messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ 80 เน้นย้ำบทบาทไทยในการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ 80 เน้นย้ำบทบาทไทยในการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

วันที่เผยแพร่ 14 พฤษภาคม 2024 436 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมสมัยที่ 80 ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (The 80th Session of the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UN ESCAP) ภายใต้หัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก”  (Leveraging digital innovation for sustainable development in Asia and the Pacific) ระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำประเทศ รัฐมนตรี เอกอัครราชทูต ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 53 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ  ในพิธีเปิดการประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีมองเห็นถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้  พร้อมเสนอแนวทาง 2 ประการ สำหรับการดำเนินการทางนวัตกรรมดิจิทัล ประการแรกคือการส่งเสริมศักยภาพให้กับคนและชุมชน ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้คนและชุมชน พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน ประการที่สองคือการจัดการความเสี่ยงจากนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงการจัดการปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการใช้นวัตกรรมดิจิทัลที่ปลอดภัย มั่นคง และเท่าเทียม

ในการประชุมนี้ ผู้แทน สอวช. นายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ในระเบียบวาระว่าด้วยการค้า การลงทุน วิสาหกิจ และนวัตกรรมทางธุรกิจ เน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงจุดยืนของไทยที่ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการเร่งรัดพัฒนาสู่ความยั่งยืนและทั่วถึง โดยยกตัวอย่างเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (National Digital Trade Platform: NDTP) ซึ่งเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย และเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ที่ใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรที่บูรณาการจากหลายแหล่ง ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบมุ่งเป้าเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ทั้งนี้การพัฒนาต่อยอด TPMAP ในอนาคตสามารถได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. ได้นำโครงการดังกล่าวเข้าร่วม AI for Social Good Initiative (ความริเริ่มปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์เชิงสังคม) ซึ่ง ESCAP ร่วมมือกับภาคี เช่น Association of Pacific Rim Universities (APRU) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนากรอบการอภิบาล AI สำหรับแต่ละประเทศ และการใช้ AI ในการแก้ปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แสดงความชื่นชมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเอเชียและแปซิฟิก (APCTT) ภายใต้ ESCAP ที่ได้พยายามอย่างแข็งขันในอันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นอกจากนี้ นายปรินันท์ ยังได้เข้าร่วมเสวนาในระเบียบวาระว่าด้วยมุมมองของอนุภูมิภาค โดยเป็นผู้ร่วมอภิปราย เรื่องมุมมองของอนุภูมิภาคต่อนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเร่งรัดดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Subregional perspectives on digital innovation for SDG acceleration) โดยมี Mr. Baasanjav Ganbold หัวหน้าสำนักงานเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ เอสแคป เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยมีผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆ ในคณะ ประกอบด้วย Ms. Sarah Mecartney ผู้อำนวยการภูมิภาคจากสำนักเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก Dr. Aladdin Rillo, Managing Director แผนกออกแบบและสนับสนุนนโยบาย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก และคุณปฐมา จันทรักษ์ Country Managing Director, Accenture Thailand  นายปรินันท์ ได้กล่าวอภิปรายในประเด็นคำถามที่ว่า ที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานด้านการอุดมศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร? และแนวทางหรือกรณีตัวอย่างใดของการร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ที่จะสามารถทำซ้ำได้สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก?  โดย นายปรินันท์ ได้กล่าวว่า กระทรวง อว. คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยไทยจะเป็นผู้นำในการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนและยกระดับมหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ตามแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 โดยทำงานร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติในการพัฒนา Digital Maturity Model เป็นเครื่องมือในการประเมินความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งจะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาดในกระบวนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมดิจิทัลสู่เศรษฐกิจและสังคม  นอกจากนี้ อว. ยังได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ และนำเทคโนโลยี big data และ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ติดตามผลเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบางอย่างไม่ทอดทิ้งใคร พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำว่าการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ซึ่งบทบาทของ ESCAP และองค์กรระดับอนุภูมิภาคอย่าง ASEAN เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Tags: #UNESCAP

เรื่องล่าสุด