เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 มีการจัดพิธีการลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยการลงนามในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการบริหาร จัดการระบบฐานข้อมูลนักวิจัย ฐานข้อมูลวิจัย ฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเผยแพร่ผลงานวิจัยและการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และสร้างเครือข่ายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)



ในส่วนของ สอวช. เป็นหน่วยที่ช่วยการวางนโยบายทิศทางที่เกี่ยวข้องกับระบบ อววน. รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญที่จะนำ อววน. มาสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) นอกจากนี้ สอวช. ยังได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานประสานงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับภาคต่าง ๆ ภายใต้ UNFCCC ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐได้หารือกันมาระยะหนี่งแล้วถึงการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและกำลังคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ตามที่ กรม สส. ได้วาง Road Map ไว้ในภาพใหญ่ โดยในพิธีการลงนามฯ ครั้งนี้ มี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ และ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ เข้าร่วมพิธีในนามของ สอวช.

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรม สส. กล่าวว่า กรม สส. มีหน้าที่เสนอแนะและจัดทำนโยบาย แผน ตลอดจนมาตรการ เกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและการดำเนินงาน และขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนศึกษา วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. จะสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุนในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีกลยุทธ์เพื่อจัดการประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงร่วมมือกับ กรม สส. ในการจัดทำกรอบวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ สนับสนุนข้อมูลงานวิจัยและนักวิจัย ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การติดตามประเมินผลโครงการวิจัย การสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในการกำหนดท่าทีการเจรจาด้านการค้าการลงทุนและพันธกรณีระหว่างประเทศ

ด้าน ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ทปอ. จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายกลไกการทำงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) เพื่อนำไปสู่ Low Carbon and Climate Resilient Society สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรม ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ พัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ (Upskill and Reskill) รวมถึงผลิตที่ปรึกษาและผู้ตรวจประเมินภายนอกสำหรับการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบ (Validation and Verification) ด้านก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแพลตฟอร์มกลางติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ท้าทาย และเป็นการนำความรู้ชองมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
