messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » อว. จับมือมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนชั้นนำจัด Semiconductor Bootcamp 2024 ฝึกทักษะ เตรียมความพร้อมนักศึกษากว่า 100 คน ป้อนสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

อว. จับมือมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนชั้นนำจัด Semiconductor Bootcamp 2024 ฝึกทักษะ เตรียมความพร้อมนักศึกษากว่า 100 คน ป้อนสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

วันที่เผยแพร่ 2 มิถุนายน 2024 1560 Views

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานปิดค่ายเตรียมความพร้อมด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือ Semiconductor Bootcamp 2024 ภายใต้โปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ หรือ Coop+ เพื่อผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” (Semiconductor and Advanced Electronics) ณ พื้นที่ Xcite Space ชั้น 17 อาคารเคเอกซ์ ถนนกรุงธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการปฏิบัติ (Practical Skill) ควบคู่กับทักษะด้านสังคม (Soft Skill) ให้นักศึกษามีทักษะพื้นฐานที่ตอบโจทย์ความต้องการ และมีความพร้อมฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ภายในงานยังมีตัวแทนจากหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ เข้าร่วมงานเพื่อแสดงความยินดีกับนักศึกษา ประกอบด้วย ดร.อรพรรณ เวียรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายกำลังคนตามความต้องการของประเทศ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก รองศาสตราจารย์ ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ด้าน Semiconductor สำนักงานปลัดกระทรวง อว. นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเคเอกซ์ มจธ. ศาสตราจารย์ ดร.อุมา สีบุญเรือง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมด้วยตัวแทนบริษัทเอกชนชั้นนำที่ร่วมดำเนินงาน ได้แก่ นายเสกสรรค์ จิตตะนุศาสตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมการทดสอบผลิตภัณฑ์ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล Principal Research Engineer บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และนางสาวสิริพร สุขสงวน ผู้อำนวยการ ผู้บริหารสายงาน Academy Innovation, Meta Learning and Strategic Partnership SCB Academy ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอผลงานโปรเจกต์ของนักศึกษาที่พัฒนาขึ้นระหว่างการเข้าร่วม Bootcamp และการมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับชั้นปีที่ 3-4 ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และสาขาที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 100 คน จาก 14 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นมิติใหม่ของประเทศไทย เป็น National Platform ในการพัฒนากำลังคนของประเทศ จากแนวคิดที่ว่าไทยควรต้องผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลากหลายด้าน โดยกิจกรรมนี้นับเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้ดำเนินการ คือการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาฝึกอบรมใน Bootcamp ก่อนที่จะไปฝึกปฏิบัติงานต่อกับสถานประกอบการ ต้องขอขอบคุณภาคเอกชนไทยทั้ง 8 บริษัทที่เข้ามาร่วมดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้นับเป็นภารกิจของทุกภาคส่วน ทั้ง มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน กระทรวง อว. รวมถึงน้อง ๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นวิศวกร และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป ถึงแม้ว่าตัวเลขนักศึกษา 100 คนในค่ายนี้อาจจะยังน้อยแต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และจะขยายจำนวนให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคต

Semiconductor Bootcamp 2024 จัดขึ้น 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษา (Pre-sessional Course) ภายใต้โปรแกรม Coop+ ซึ่งในปีแรกมีสถานประกอบการเข้าร่วม จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด 5. บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด 6. บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท นิชชินโบ ไมโคร ดีไวซส์ (ประเทศไทย) จํากัด และ 8. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถานประกอบการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การให้ข้อมูลความต้องการด้านสมรรถนะ การร่วมกิจกรรม Campus Tour เพื่อรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 4 ภูมิภาค การคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโปรแกรม การร่วมเป็นผู้สอนทั้งในคอร์สเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และใน Bootcamp รวมถึงการรับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

สำหรับกิจกรรมใน Bootcamp ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การฝึกปฏิบัติพื้นฐาน Instrument และพื้นฐาน Analog & Digital ดำเนินการโดยคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. กิจกรรมที่ 2 การฝึกปฏิบัติพื้นฐาน Semiconductor Automatic Test Equipment และ Circuit Simulation ซึ่งนักศึกษาได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบที่ใช้จริงในสถานประกอบการ โดยมีคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และทีมวิศวกรของบริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสอนและจัดกิจกรรม ในส่วนของกิจกรรมที่ 3 การพัฒนาทักษะด้าน Soft Skill ที่จำเป็นสำหรับการทำงานจริง เช่น การวางแผนงาน การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการนำเสนอผลงาน ฯลฯ จัดกิจกรรมโดยฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักเคเอกซ์ มจธ. ซึ่งหลังจากนี้นักศึกษาจะเข้าสู่การฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้มีสมรรถนะที่ตอบโจทย์ความต้องการและมีความพร้อมในโลกการทำงานจริง ทั้งนี้ โปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ได้รับการงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวง อว. โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) ร่วมกับ สอวช. เพื่อเป็นต้นแบบโปรแกรมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

เรื่องล่าสุด