
การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และการแก้ไขปัญหาความยากจน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ สอวช. ให้ความสำคัญในการดำเนินงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน ผ่านการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยพัฒนาอาชีพ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่นบนฐานนวัตกรรม ในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
“โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล” เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ยืนยันได้ว่า การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและการได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง ไปดูรายละเอียดกันต่อดีกว่าว่าผลลัพธ์การดำเนินงาน 2 ปี และตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเป็นอย่างไรบ้าง?
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://ecotives.info/
ก่อนจะเล่าต่อ ไปทำความรู้จักกับโครงการกันอีกรอบ!
โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล คืออะไร?
Ecotive เป็นโครงการที่ สอวช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ดำเนินงานมาแล้ว 2 ปี ผ่านการพัฒนาและทดลองเชิงนโยบาย ออกแบบกลไกการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจฐานราก โดยนำความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ไปเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มรายได้ และยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ ในกลุ่มที่มักขาดโอกาส อีกทั้งยังเข้าไปสร้างระบบนิเวศสนับสนุนทางการเงิน ทักษะผู้ประกอบการ เชื่อมโยงตลาด พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยให้เป็นวิสาหกิจเริ่มต้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้นำชุมชน เยาวชน และกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการได้ลงไปจุดประกายให้คนในชุมชนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง บนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน พัฒนาออกมาเป็นสินค้าและบริการ

ผลลัพธ์การดำเนินงาน 2 ปี ของ “โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล”
พัฒนาธุรกิจในพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดปัตตานี รวม 8 ตำบล ได้แก่ ต.บานา ต.บาราโหม ต.สะดาวา ต.แหลมโพธิ์ ต.พ่อมิ่ง ต.ปิยามุมัง ต.ตะบิ้ง และ ต.ตะลุบัน
เกิดธุรกิจอย่างน้อย 19 ธุรกิจ เช่น กลุ่มการให้บริการนวดแผนมลายู กลุ่มท่องเที่ยวแม่น้ำสายบุรี กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้ามุสลิม กลุ่มเบเกอรีเด็กกำพร้า กลุ่มแปรรูปกล้วย กลุ่มผลิตถ่านจากกะลามะพร้าว และกลุ่มแปรรูปกุ้งแห้ง
ผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 280,000 บาท/ปี/ราย
มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 ราย/ผู้ประกอบการ
แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6,000 บาท/เดือน/ราย
ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ 3 ราย

ตัวอย่างความสำเร็จของ “โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล”
กลุ่มนวดแผนมลายู
ก่อนเข้าร่วมโครงการหมอนวดรับนวดตามบ้าน ชั่วโมงละ 100 บาท รายได้ไม่แน่นอน แต่หลังจากได้รับการอบรมและมีแผนธุรกิจชัดเจน สามารถสร้างโรงนวดเป็นของตัวเอง ที่พร้อมให้บริการครบครัน เช่น การทำสปา อบสมุนไพร และขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ ตู้อบสมุนไพร และครีมนวดสมุนไพร ส่งผลให้มีรายได้จากการนวดเพิ่มขึ้น 1 เท่า มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่ม 10,000 บาท/เดือน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 7 คน
กลุ่มแปรรูปกุ้งแห้ง
ก่อนเข้าร่วมโครงการขายกุ้งแห้งให้กับพ่อค้าคนกลาง มีรายได้ 12,000 บาท/เดือน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการได้พัฒนาแบรนด์สินค้าของตัวเอง เปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาด โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจากสำนักงานพลังงานจังหวัด และในปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และกำลังดำเนินการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ทำให้สามารถขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น

จากความสำเร็จของ “โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล”
ทำให้โครงการ Ecotive สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการขยายผลในพื้นที่อื่นได้ โดยหัวใจสำคัญคือ “การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น” ซึ่งต้องมีกลไกหรือตัวกลางเพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้โดยเห็นเป้าหมายร่วมกัน โดยตัวกลางหรือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ ได้แก่
ใช้พลังจากเครือข่ายหนุนเสริมสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายถนัด
มีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจชุมชนเกาะติดชุมชน และพัฒนาให้มีไอเดียเป็นของตัวเอง
สร้างเครือข่ายด้วยการตั้งเป้าหมายร่วม (win-win สำหรับทุกฝ่าย)
สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้วางแผนจะนำผลการศึกษาจากโครงการนี้ จัดทำเป็นข้อเสนอต่อหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เพื่อให้เกิดการจัดสรรทุนที่มุ่งเน้นการทำงานในลักษณะ Account-based และมีแนวทางทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นต่อไป