นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ในประเทศไทย โดยเฉพาะโปรตีนทางเลือก และแนวโน้มของตลาดโลก” ในงาน TJRI Business Networking (Future Food) จัดโดย โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย (Thai – Japanese Investment Research Institute: TJRI) ร่วมกับ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย (Thai Future Food Trade Association) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม อาคารเคเอกซ์ (KX Building) ชั้น 10
นางสาวสิรินยา กล่าวถึงความจำเป็นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ที่แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ
1. ตอบสนองสังคมสูงอายุ ลดภาระทางการแพทย์ ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ซึ่ง Future Food คิดเป็น 10% และ 57% ของผู้บริโภคทั่วโลกสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ 2. สร้างความมั่งคงทางอาหารท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของไทยที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 และ 3. สร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep-Tech Startup) ซึ่งประเภทของอาหารอนาคตไทย โดยเฉพาะในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) อาทิ กลุ่มแมลงกินได้ รวมถึงโปรตีนจากนวัตกรรม เช่น เนื้อจากพืช ซึ่งรวมมีมูลค่าการส่งออก 6,500 ล้านบาท มูลค่าตลาดในประเทศถึง 43,500 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 8% ต่อปี
นางสาวสิรินยา ยังชี้ให้เห็นถึงผลสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทย จากงานวิจัยของ Madre Brava ในปี ค.ศ. 2023 พบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ ขณะเดียวกันการลดกินเนื้อสัตว์ ทดแทนด้วยโปรตีนทางเลือกก็จะต้องมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าโปรตีนจากพืชเป็นโอกาสสำคัญทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป ตลาดส่งออกของไทยจะต้องมีมาตรการทางการค้าในเรื่องนี้ ต้องมองไปข้างหน้าและลงทุนทั้งการวิจัยและส่งเสริมเกษตรกรเพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารยั่งยืน และทำให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
สำหรับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย นางสาวสิรินยา แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรม Future Food ผ่านการดึงดูดการลงทุนกลางน้ำทั้งจากในและนอกประเทศ สร้างกลไก บริษัทธุรกิจเกษตร (Producer Company) พร้อมทั้งสนับสนุนการแปรรูปขั้นต้นและตรวจวัดคุณภาพ 2. การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ Future Food มีการพัฒนา R&D ครบวงจร สร้างสตาร์ทอัพกลุ่ม Future Food และพัฒนาทักษะกำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม และ 3. การพัฒนาการตลาด Future Food ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น เทศกาลกินเจ ในปี พ.ศ. 2566 มีนักท่องเที่ยว 42,026 คน สร้างมูลค่าเงินสะพัดมากกว่า 44,500 ล้านบาท
ภายในงานยังมีการบรรยายในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบการส่งออกอาหารโปรตีนทางเลือกไปยังประเทศญี่ปุ่น เทรนด์อาหารสุขภาพในญี่ปุ่น มุมมองของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีต่อโปรตีนทางเลือกแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเข้าถึงผู้ซื้อฝั่งญี่ปุ่น และได้มีการจัดเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ศักยภาพการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future food) ของไทย โดยเฉพาะการผลิตและประสบการณ์การส่งออกโปรตีนทางเลือกแต่ละชนิดไปประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งศักยภาพการผลิตอาหารแห่งอนาคตอื่น ๆ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์” รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้มีพื้นที่พบปะพูดคุยกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารอนาคตในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในภาคธุรกิจและภาคนโยบายด้วย