messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ สสน. ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “ความสำเร็จของศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่” หนุนการจัดทำร่างนโยบาย “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่ออนาคตประเทศไทย”

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ สสน. ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “ความสำเร็จของศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่” หนุนการจัดทำร่างนโยบาย “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่ออนาคตประเทศไทย”

วันที่เผยแพร่ 21 มิถุนายน 2024 154 Views

เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยมี ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. พร้อมผู้บริหาร ของ สสน. และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมลงพื้นที่ศึกษาความสำเร็จ และแนวทางการดำเนินการจัดการน้ำ ร่วมกับเครือข่ายชุมชน องค์การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น ศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด นวัตกรน้ำในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่บริเวณศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ พื้นที่บริหารการจัดการน้ำชุมชนตำบลสรอย และพื้นที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ชุมชนตำบลแม่ป้าก ณ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โดยมีนายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นายวีฤทธิ กวยะปาณิก เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นายอัมพร ฐานะวุฒิกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสรอย และนายไพรัตน์ บัญสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ป้าก พร้อมด้วยชุมชนเครือข่าย มาให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำชุมชนในจังหวัดแพร่

การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จในด้านศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดจากความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่สร้างความเข้มแข็งในรากฐานของระดับชุมชน ผ่านการพึ่งพาและมีส่วนร่วมทั้งในระดับชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ จัดเก็บข้อมูลและการวางแผนทั้งในสภาวะวิกฤตและสภาวะปกติ พัฒนาการบริหารข้อมูลและน้ำอย่างมีประสิทธิผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างการสร้างผังน้ำออนไลน์ที่ครอบคลุมทั้งในระดับตำบลและจังหวัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยในการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงนำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก สสน. เข้ามาร่วมต่อยอดพัฒนาบุคลากรและผลักดันให้เกิดการประสานงานและข้อมูลร่วมกันในระดับประเทศ จนเกิดเป็นตัวอย่างความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจภายในจังหวัด จนกระทั่งสามารถขยายผลไปสู่ 8 จังหวัด และลุ่มน้ำตรัง และสามารถต่อยอดไปสู่การเพิ่มขึ้นของเครือข่ายภายในพื้นที่ผ่านโครงการโรงเรียนบริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ (การบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ข้อมูลและนวัตกรรมสู่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไปได้

ดร.สิริพร กล่าวว่า การถอดโมเดลความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำภายในจังหวัดแพร่ ซึ่งเกิดจากกระบวนการความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชนและจังหวัด และความสำเร็จของการนำเทคโนโลยี ข้อมูล และสารสนเทศเข้ามาช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การดำเนินการรูปแบบนี้มีความสำคัญ มีความเหมาะสมต่อการต่อยอดการยกระดับ (Up-Scale) ต้นแบบความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดแพร่ จากการดำเนินงานของ สสน. ไปสู่ระดับนโยบาย และขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ภายในประเทศไทยด้วยกลไก อววน. และเชื่อมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่และชุมชน สร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนที่เป็นฐานสู่การจัดการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัด ภาค และประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ในการเข้าเยี่ยมพื้นที่ในครั้งนี้คณะได้เดินทางไปยังตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เพื่อศึกษาการดำเนินงานการจัดการภัยพิบัติของชุมชนตำบลสรอย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสรอย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้ตำบลสรอยสามารถคาดการณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนภัยพิบัติ (Early Warning) ไปสู่เครือข่ายได้อย่างรวดเร็วและสามารถประสานหน่วยงานเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา ซึ่งสามารถลดความเสียหายอันเนื่องจากมาจากภัยพิบัติทั้งต่อทรัพย์สินและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงเข้าพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะยาง เพื่อศึกษาการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบประปาภูเขาและระบบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งบริหารโดยการอาศัยเทคโนโลยี ข้อมูล และการประยุกต์ให้เข้ากับวิถีสังคมในบริบทพื้นที่เข้ามาช่วยในการจัดการน้ำ ผ่านการทำฝายดักตะกอนลดการสะสมของตะกอนดิน เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ และบำรุงและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม รวมถึงกระจายน้ำโดยการใช้ระบบประปาภูเขาโดยไม่อาศัยพลังงาน ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอเพื่อการอุปโภคและบริโภครวมถึงการทำการเกษตรภายในพื้นที่

การลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการและเป็นข้อมูลสำคัญที่สนับสนุนการจัดทำร่างเอกสารวิชาการ “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่ออนาคตประเทศไทย” ที่จะยกระดับไปเป็นสมุดปกขาวจากการทำงานร่วมของ สอวช. และ สสน. ต่อไป

เรื่องล่าสุด