messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้การจัดตั้ง University Holding Companyดึง 4 มหาวิทยาลัยแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายที่ช่วยผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง

กระทรวง อว. โดย สอวช. เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้การจัดตั้ง University Holding Companyดึง 4 มหาวิทยาลัยแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายที่ช่วยผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง

วันที่เผยแพร่ 28 มิถุนายน 2024 542 Views

(26 มิถุนายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเสวนา UHC Learn & Share ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “From Blueprint to Reality of New Establishments” ณ Co-working Space ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

นางสาวนิรดา กล่าวว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เป็น University Holding Company หรือ UHC ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งหลังจากที่ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 เห็นได้ชัดว่าหลายมหาวิทยาลัยให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และมีเป้าหมายตรงกันว่าประเทศต้องการธุรกิจนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Enterprise) วัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีที่ใช้ในการสื่อสารนโยบาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการสร้างเครือข่าย UHC ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อรวมพลังช่วยกันผลักดันนโยบายให้เกิดผลขึ้นได้จริง

หลังจากนั้น นายอานนท์ ตานะเศรษฐ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. ได้แนะนำภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมผ่านกลไก UHC หรือ นิติบุคคลเพื่อการร่วมลงทุน ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำหน้าที่บริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพ มีการบริหารการลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยออกไปจัดตั้งธุรกิจ (Spin-off)  อีกทั้งสามารถเข้าถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับการสนับสนุนทางการเงินอย่างคล่องตัว โดยที่ผ่านมามีข้อจำกัดของการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษากับภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ จึงได้มีการดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) การปลดล็อกกฎระเบียบ ผ่านการออกระเบียบสำนักนายกฯ และระเบียบสภานโยบายฯ โดยปัจจุบัน สอวช. ได้มีการผลักดันผ่านการสื่อสารทำความเข้าใจผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย เช่น การจัดกิจกรรม Roadshow การจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมถึงให้คำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยที่สนใจ

ในส่วนของเวทีเสวนานั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตั้งและดำเนินการ UHC จากตัวแทนจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ และ รศ.ดร.ชัยยศ สัมฤทธิ์สกุล รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย สอวช. และ นายอานนท์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผศ.ดร.จุมพล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จดทะเบียน UHC ภายใต้ชื่อ PSU Holding โดยมีบริษัทลูกแล้ว 1 บริษัท และภายในปีนี้จะผลักดันให้เกิดรวม 4 บริษัท มีเป้าหมายเพื่อต้องการนำเอางานวิจัยในมหาวิทยาลัยออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยองค์ประกอบที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงจะต้องอาศัยหลัก 3C คือ 1. Coach ต้องมีโค้ชที่มีประสบการณ์เป็นผู้แบ่งปันความรู้ในการจัดตั้ง UHC เป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนต่อเองได้ 2. Connect มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการทำงานร่วมกัน และ 3. Cash คือการมีเงินทุนในการดำเนินงานเพื่อให้บริษัทไปต่อได้ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จคือการเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าหน่วยงานมีอะไรดี หน่วยงานเก่งอะไร เพื่อหาจุดขายของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมา และสุดท้ายคือการตั้งคำถามต่อไปว่าใครจะได้ประโยชน์จากการทำ UHC เพราะคนเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยเราทำด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย นักวิจัย ภาครัฐ หรือภาคเอกชน ที่สุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และสาธารณประโยชน์

“อยากให้เกิดการทำ UHC ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย เกิดเป็นภาพจำของความสำเร็จในการรวมตัวของมหาวิทยาลัยที่ทำ UHC และเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศชาติของเรารอดได้ ถ้ามหาวิทยาลัยไหนยังไม่เคยทำต้องลองทำ ปัจจุบันมีคนให้คำปรึกษาได้มากมาย เราจะเดินไปอย่างไม่โดดเดี่ยวแน่นอน” ผศ.ดร.จุมพล กล่าว

ผศ.ดร.รัชนี กล่าวว่า สจล. จดทะเบียน UHC ในชื่อ เคเอ็มไอที ลาดกระบัง ซึ่งจุดแข็งของ สจล. คือการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายของ สจล. คือการทำให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินงานในบริษัทที่จะช่วยทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีรายได้ มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน รวมถึงช่วยตอบเป้าหมายหลักและสอดคล้องกับนโยบายของสถาบันในการเป็น World Master of Innovation เป็นสถาบันที่สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งความท้าทายในการจัดตั้ง UHC คือ 1. ด้านนโยบาย สภามหาวิทยาลัยต้องเข้าใจ และให้การสนับสนุนจึงจะทำให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ 2. ด้านการดำเนินงาน อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้าไปให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจ และ 3. ด้านการเงิน การเดินหน้าทำงานได้ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินทุน ที่จะต้องได้รับการสนับสนุน

รศ.ดร.สมัคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดตั้ง UHC ภายใต้ชื่อ TSU Enterprise ซึ่งแนวคิดหลักของมหาวิทยาลัยจะมองเรื่องนโยบายเชิงพื้นที่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจบีซีจี การผลักดันให้เกิด UHC จึงต้องเชื่อมโยงกับเรื่องเหล่านี้ โดยในปีแรกวางแนวทางการดำเนินงานในด้านการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ผ่านการทำคอร์สอบรมให้อาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมคอร์ส จนได้กลุ่มคนที่สนใจในการดำเนินงานด้านนี้ และเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยร่วมกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างนวัตกรรมสังคม (social innovation) เชิงพื้นที่ และ Grassroots Economy โดยแบ่งองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่และต่อยอดได้เป็น 4C ได้แก่ 1) Craft งานคราฟต์ ที่มีเทคโนโลยีและมีคณะศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนอยู่ 2) Cuisine & Cosmetic การยกระดับวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ในธีม local connect 3) Community Tourism ที่จะช่วยยกฐานรากและสร้างรายได้เข้าถึงชุมชนได้ และ 4) Cultural ในแง่ของวัฒนธรรมในพื้นที่หรือซอฟต์พาวเวอร์

รศ.ดร.ชัยยศ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มเรื่องการจัดทำ UHC มาตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งจดทะเบียนได้ในปี 2567 ในชื่อ MAGROW Holding ปัจจุบันมีบริษัทลูกภายใต้มหาวิทยาลัย 2 บริษัท ซึ่งความมุ่งหวังของมหาวิทยาลัย คือ 1. เร่งสร้างนวัตกรรม เร่งการใช้และผลิตเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร 2. รวมคนที่มีความฝันแบบเดียวกัน เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน 3. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อยอดไปเป็นธุรกิจ 4. สร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพและ SMEs ที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมาให้ได้ โดยปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้จัดตั้ง UHC ขึ้นมาได้สำเร็จ คือความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ การมีระเบียบสำนักนายกฯ การมีตัวอย่างจาก UHC อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและแบ่งปันข้อมูล มีความพร้อมของระบบนิเวศนวัตกรรม มีนักวิจัยกลุ่ม frontier และที่สำคัญคือความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการจัดตั้ง UHC และมองถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก

เรื่องล่าสุด