

(27 มิถุนายน 2567) ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Print Circuit Board: PCB) ระหว่างบริษัท เพ๊ง เชิน เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (PST) และสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่ง PST เป็นบริษัทที่เครือสหพัฒน์และ Zhen Ding Tech Group (ZDT) ได้ร่วมลงทุนและก่อตั้งขึ้น โดยได้จัดพิธีลงนามฯ ขึ้น ณ ห้อง NILE 3-4 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

ดร.สิริพร กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Advanced Electronics) ที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก อีกทั้งรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ประเทศไทยจึงมีข้อได้เปรียบด้านการเชื่อมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายคือ การพัฒนาคนสมรรถนะสูงที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวง อว. มีนโยบายมุ่งให้เกิดการสร้างโอกาสให้นักศึกษาไทยได้รับการพัฒนาทักษะและประสบการณ์จริงจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกในอนาคตต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้แถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ด้วยการแสดงแผนงานที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวของกระทรวง อว. ผ่าน Initiative Projects จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย STEM Plus, COOP+, International Internship, Higher Education Sandbox, Joint Degree, Ph.D. Scholarship พร้อมทั้ง Training Centers มากกว่า 30 แห่ง แผนดังกล่าวมีเป้าหมายระยะ 5 ปี ที่จะสร้างและพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง จำนวน 80,000 คน กำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จำนวน 50,000 คน และกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 150,000 คน เพื่อเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้มีแนวทางการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมุ่งหวังให้เกิดการเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น
การจัดโครงการ Online Job Matching ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) มีการสัมภาษณ์และรับสมัครงานทางออนไลน์โดยตรงจาก 6 บริษัทเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรม PCB ที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมีตำแหน่งงานเปิดรับสมัครรวมกว่า 300 อัตรา รวมถึงการจัดค่ายเตรียมความพร้อม (Bootcamp) สำหรับนักศึกษากว่า 100 คน จากหลากหลายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ หรือ Coop+ เพื่อเติมความรู้ ทักษะด้านการปฏิบัติ (Practical Skill) และทักษะทางสังคม (Soft Skill) เพื่อลดช่องว่างด้านสมรรถนะให้กับนักศึกษาก่อนเข้าฝึกงานในสถานประกอบการด้วย
“กระทรวง อว. ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อาทิ การพัฒนามาตรการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้สถานประกอบการเข้าร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคอุดมศึกษาโดยมีกลไกอำนวยความสะดวกผ่านแพลตฟอร์ม STEMPlus การพัฒนากลไก Higher Education Sandbox ทำให้เกิดการจัดการศึกษารูปแบบใหม่และไม่ติดอยู่ในข้อจำกัดของเกณฑ์มาตรฐานปัจจุบัน” ดร.สิริพร กล่าว


ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก Mr. Qingfang Shen ประธานกลุ่ม Zhen Ding Tech กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนและดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับภาคการศึกษา และ Mr. Darren Hsiao ประธานบริษัท PST ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมถึงตัวแทนจากสถาบันการศึกษาทั้ง 5 แห่งยังได้ขึ้นมากล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการลงนามฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นโครงการนำร่องในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรในประเทศให้กับอุตสาหกรรมการผลิต PCB ในประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ZDT ในฐานะนักลงทุนต่างชาติ สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวเนื่องกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทยต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิต PCB ในประเทศด้วย






