เมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดอบรมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้วยดิจิทัลคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอบรมครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการพัฒนากลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 35 คน เป็นการอบรมพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบการ โดยการใช้เทคโนโลยี Generative AI ในการสร้างตัวตนและสร้างแบรนด์ในโลกออนไลน์ รวมถึงเครื่องมือในการทำการตลาด วิธีสร้างและค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การใช้ AI ค้นหาจุดเด่นของสินค้าและบริการ การสร้างคอนเทนต์ เป็นการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง มีที่ปรึกษาค่อยให้คำแนะนำชี้แนะแนวทางตลอดการเรียนรู้
การอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ประธานกรรมการกำกับโครงการพัฒนากลไก อววน. เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม Creative Content และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย) ร่วมให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้เทคโนโลยี Generative AI เพื่อพัฒนาคอนเทนต์และสร้างจุดเด่นของสินค้าและบริการ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของ SMEs ได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการใช้ดิจิทัลมีเดียและเทคโนโลยี Generative AI มาใช้ในการสร้างคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอและถ่ายทอดมุมมองของสินค้าพื้นเมืองที่แสดงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดการรับรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการสร้างโอกาสในการแข่งขัน และเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับการอบรมฯ นี้ อยู่ภายใต้โครงการพัฒนากลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และส่งเสริม Soft power ของประเทศไทย จะมีการดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่องใน 4 ภูมิภาคของไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกฉียงเหนือ โดยจะมีการจัดอบรมในช่วงเดือนกรกฏาคมและเดือนสิงหาคม