กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 85 (The 85th Meeting of ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation: COSTI-85) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3 – 7 มิถุนายน 2567 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดย Ministry of Industry, Science, Technology & Innovation (MISTI) ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการรองผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 16 (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation: BAC – 16) โดยมี ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ และ นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สอวช. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 85 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 20 (The 20th ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation: AMMSTI – 20) เป็นต้น
สำหรับการประชุม BAC – 16 มีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมหารือการดำเนินงานและติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างประเทศสมาชิอาเซียน และคู่เจรจาของอาเซียน

ดร.สุรชัย กล่าวในที่ประชุม เสนอแนะแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States) ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อร่วมกันนำเสนอข้อริเริ่มของอาเซียนในระดับนานาชาติ เช่น การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ที่จะเป็นการยกสถานะของอาเซียนให้เป็นที่ตระหนักในเวทีโลก รวมทั้งกล่าวสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการคาดการณ์อนาคตในวาระเรื่องการคาดการณ์อนาคตระบบนิเวศด้าน วทน. ของอาเซียน 2035 (ASEAN Science, Technology & Innovation Ecosystem Foresight 2035) โดย ดร.สุรชัย กล่าวเน้นเรื่องการใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตในการระบุแนวโน้ม ความเป็นไปได้ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอาเซียน รวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ สอวช.

นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ได้ให้ความเห็นในการเสริมสร้างบทบาท BAC ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีผู้แทนจากภาคเอกชนที่ครอบคลุม ทั้งผู้แทนจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้แทนจากภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

สำหรับการประชุม AMMSTI-20 มีการหารือและแลกเปลี่ยนด้านนโยบายการดำเนินงานด้าน วทน. ภายใต้กรอบอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยน นโยบาย อว. for AI ที่กำลังดำเนินการในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์