เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ประกอบด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้กระทรวง ประกอบด้วย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมประชุมประจำปี STS Forum ครั้งที่ 16 (The 16th Annual Meeting of Science and Technology in Society (STS) forum) ณ Kyoto International Conference Center เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยการประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและวิสัยทัศน์ระหว่างผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำด้านสื่อสารมวลชน นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคต่างๆ กว่า 1,000 คนเข้าร่วมหารือและรับฟังการแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น อาทิ โอกาสและผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศที่กำลังพัฒนา การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของแต่ละประเทศ รวมถึงความมั่นคงทางพลังงาน น้ำ อาหารและความท้าทายทางสังคมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยได้รับเชิญเป็นประเทศหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ขึ้นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับนานาประเทศ ตลอดจนรับเชิญนำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคมในเวทีหลักของการประชุม
โดยในช่วงเช้าวันแรกของการประชุม รัฐมนตรี อว. ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายอาเบะ ชินโซ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงการเปลี่ยนผ่านจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีการควบรวมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับการอุดมศึกษาเข้าด้วยกัน โดยเป็นการผนวกรวมทั้งการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและโจทย์ความท้าทายของประเทศ พร้อมยังได้พูดคุยถึงโอกาสในการร่วมมือระหว่างไทย ญี่ปุ่นและนานาประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (STI for SDGs) โดยใช้ BCG Economy (Bio-Circular-Green economy) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นแพลตฟอร์มการพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเตรียมพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยเพื่อให้เกิดสังคมที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป จากนั้น รัฐมนตรีพร้อมคณะได้เข้าร่วมประชุมประจำปี STS forum ครั้งที่ 16 และรับฟังการบรรยายในหัวข้อ “Science and Technology for the Future of Humankind” โดยมี นายอาเบะ ชินโซ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยช่วงหนึ่งนายอาเบะ ได้กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะนำพาอนาคตของโลกไปสู่ความยั่งยืน และมองว่าประเด็นสำคัญของการใช้นวัตกรรมคือการบริหารจัดการที่ดี เช่น พลาสติกที่มีประโยชน์มหาศาล แต่กลายปัญหาขยะในทะเลเนื่องจากมีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยนายอาเบะได้ประกาศโครงการใหม่ของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า MARINE (MAnagement/ Recycle/ INnovation/ Empowerment) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรม องค์ความรู้ และสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการบริหารจัดการขยะเพื่อความยั่งยืน
“ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งหลายเรื่องที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในเวที STS Forum เป็นเรื่องที่ตรงกับนโยบายของไทยที่ อว. กำลังเดินเครื่องอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่อง BCG Economy ที่เราทำอยู่ การมาครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่มาฟัง แต่เป็นการมาเพื่อผนึกกำลังกับนานาประเทศให้เรื่องที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการมีพลังความร่วมมือจากเครือข่ายต่างประเทศซึ่งจะส่งผลให้ขับเคลื่อนนโยบายเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การประกาศโครงการ MARINE ของนายกอาเบะ ประเทศไทยจะประกาศตัวเร่งเดินหน้าหารือถึงความร่วมมือดังกล่าวกับประเทศญี่ปุ่นทันที เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของไทยอยู่แล้วทั้งนโยบาย BCG, Zero-Waste รวมถึง Waste to energy ที่เราต้องการเดินหน้าอย่างจริงจัง เพื่อพาประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” รมว.อว. กล่าว
จากนั้น รัฐมนตรีและคณะร่วมการประชุม S&T Ministers’ Roundtable Meeting หัวข้อ “International Cooperation and Challenging R&D for the Implementation of STI for SDGs ” โดยมี Mr.Takemoto Naokazu, Minister of State for Science and Technology Policy ประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเวทีดังกล่าวเป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนานาประเทศ ซึ่งครั้งนี้ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ และความท้าทายด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยรัฐมนตรี อว. ได้แลกเปลี่ยนถึงนโยบายสำคัญของประเทศไทยที่จะพัฒนา BCG Economy หรือ เศรษกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ร่วมกับศาสตร์ในแขนงอื่นๆ เพื่อพัฒนาสังคมของไทยในทุกระดับ ผ่านความร่วมมือ 4 ประสานระหว่าง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และหน่วยงานจากต่างประเทศ ที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน รัฐมนตรี อว. ได้รับเชิญขึ้นเวทีสำคัญเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Science and Technology Education for Society) ร่วมกับอธิการบดีจาก University College London, University of Amsterdam, University of Tokyo, ประธาน American Academy of Arts and Sciences, และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของญี่ปุ่นโดยได้เปิดเผยในช่วงหนึ่งของการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะต้องสร้างความสมดุลเพื่อไปสู่สังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน ผ่านองค์ประกอบความสำเร็จ 4 W คือ 1. การเอาภูมิปัญญาของมนุษย์ (Human Wisdom) มาใช้ สร้างแนวคิดของคนให้คำนึงถึงโลกและสังคมส่วนรวม ก่อนที่จะคำนึงถึงตนเอง 2. ความอยู่ดีมีสุขในสังคม (Social Wellbeing) เปลี่ยนสังคมจากการมองแต่ตนเอง (Me Society) ไปสู่สังคมที่ดูแลใส่ใจซึ่งกันและกัน (We Society) 3. การรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) ต้องสร้างความตระหนักว่าธรรมชาติคือทรัพยากรที่ต้องดูแล ทดแทนและพัฒนาร่วมกับความก้าวหน้าของสังคม และ 4. ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) โดยเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการผลิตเพื่อการขาย เป็นการใส่ใจ แบ่งปันและแลกเปลี่ยน ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจแห่งความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนจะเติบโตไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ นอกจากการร่วมเวที STS Forum แล้ว รัฐมนตรีและคณะยังใช้โอกาสดังกล่าวพบปะหารือกับนานาประเทศในหลายประเด็น อาทิ การประชุมทวิภาคีกับ Mr.Takemoto Naokazu, Minister of State for Science and Technology Policy ประเทศญี่ปุ่น ในประเด็น Smart City และ Space Technology ที่มีการหารือถึงโอกาสความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย อย่างการพัฒนา Smart City ได้พูดคุยความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนาเมืองต่างๆ ของไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่อง Space Technology ประเทศไทยแสวงหาความร่วมมือจากญี่ปุ่น โดยไทยคาดหวังที่จะสร้างดาวเทียมเอง เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีและฝึกบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไปในตัว ตลอดจนเพื่อมุ่งสู่นโยบายที่ตอบโจทย์อนาคตของประเทศอย่างการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research
การหารือกับ Mr.Jean – Eric Paquet, Director General, Research and Innovation, European Commission และ Prof. Jean-Pierre Bourguignon, President, European Research Council (ERC) โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Horizon Europe ซึ่งเป็นโครงการที่มีการวิจัยด้านความท้าทายของโลกอยู่มาก นอกจากนี้ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับ Ms. Matilda Ernkrans, Minister for Higher Education and Research ประเทศสวีเดน ในหัวข้อ Circular Economy, Entrepreneurial University และ Horizon 2020 โดยได้หารือถึงความสำเร็จจากความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่ผ่านมา และความร่วมมือในอนาคต โดยประเทศสวีเดน ถือเป็นผู้นำแถวหน้าในด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม มีบริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยประเทศไทยจึงมีความสนใจที่จะขยายเครือข่ายระหว่างประเทศให้เข้าถึงภาคอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยในประเทศสวีเดน เพื่อที่จะได้เรียนรู้แนวทางการปฏิบัติที่ดี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษา การมีส่วนร่วมทางสังคม โอกาสทางธุรกิจ การวางแผนนโยบายและการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ปัจจุบัน สอวช. ได้ออกแบบและจัดกิจกรรมที่จำเป็นและสอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Innovative startup) เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยได้ถอดบทเรียนของประเทศสวีเดน มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มีแผนการดำเนินงานศึกษาและจัดทำนโยบายขับเคลื่อนการสร้าง Entrepreneurial Education Consortium โดยถอดบทเรียนจาก Stockholm School of Entrepreneurship มาออกแบบมาตรการและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ Entrepreneurship and innovation ทั้งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาคน ผู้สอน โค้ช facilitator นักวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบ โดยสร้างให้มหาวิทยาลัยเป็น Entrepreneurial University เพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงาน (Waste-to-Energy) สอวช. ยังเคยมีความร่วมมือกับสถานทูตไทยในกรุงสตอร์คโฮม ภายใต้โครงการการทูตวิทยาศาสตร์ไทย – สวีเดน ซึ่งความร่วมมือมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงาน (Waste to Energy) โดยได้เชิญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวีเดน มาบรรยายในงานสัมมนาและเวิร์คช็อป หัวข้อ “Waste-to-Energy: The Swedish Approach” ที่กรุงเทพ ด้วย
อย่างไรก็ตาม Science and Technology in Society (STS) Forum หรือ STS Forum เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น การดำเนินงานของ STS Forum มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการและผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสังคม โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินงานจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลัก และมีบริษัทเอกชนร่วมให้การสนับสนุน โดยมี Mr. Koji Omi อดีต Minister of State for Science and Technology Policy ของญี่ปุ่น เป็นผู้ก่อตั้งและประธาน และมีคณะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
การเดินทางไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น ของรัฐมนตรีและคณะจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างบทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และประเทศไทย ในเวทีนโยบายระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่ง…//