กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) จัดการสัมมนา STIP Compass: Thailand Awareness Webinar เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องหว้ากอ 2 ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการรองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงาน


ดร.สุรชัย กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และจัดทำนโยบายสำหรับประเทศ โดยเฉพาะการมีข้อมูลของประเทศไทยในฐานข้อมูล European Commission – OECD Science, Technology and Innovation Policies (STIP) Compass ซึ่งรวบรวมข้อมูลนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ โดยเน้นย้ำถึงการแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้งานฐานข้อมูลดังกล่าวของผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่าง ๆ


ในช่วงของการเสวนาการใช้งานฐานข้อมูล STIP Compass (Testimonials from countries on data collection) นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. เป็นผู้ร่วมอภิปราย ร่วมกับ ผู้แทนจากราชอาณาจักรสเปน สาธารณรัฐทูร์เคีย และสาธารณรัฐเกาหลี

ดร.ปราณปรียา ได้นำเสนอภาพรวมประเทศไทยในฐานข้อมูล STIP Compass การใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนานโยบายและการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำให้เกิดความเข้าใจในโครงสร้างนโยบายด้าน วทน. ของประเทศอื่น ๆ รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นเรื่องแนวทางการใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับช่วงการถาม-ตอบกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา

นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ได้เข้าร่วมเสวนาในการประชุมเชิงปฏิบัติการ EC-OECD STIP Compass workshop on data utilisation ซึ่งจัดโดย OECD และ European Commission ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจากสาธารณรัฐเฮลเลนิก คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และสหราชอาณาจักร โดยนอกจากกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล STIP Compass กับบริบทประเทศไทยแล้ว ดร.ปราณปรียา ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีและความท้าทายของการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ดังกล่าวด้วย


สำหรับแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass เป็นแพลตฟอร์มเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนโยบาย วทน. จากประเทศต่าง ๆ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุก ๆ 2 ปี เผยแพร่เป็นข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ และนับเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลนโยบาย วทน. ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ https://stip.oecd.org/stip/