messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. และพันธมิตร ร่วมจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก

กระทรวง อว. โดย สอวช. และพันธมิตร ร่วมจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก

วันที่เผยแพร่ 13 กรกฎาคม 2024 75 Views

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกุล) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมยินดีและกล่าวเปิดงานการจัดตั้ง “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ณ ห้องประชุม MR 111 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย เข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมการเปิดตัว ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ทั้งนี้ รัฐบาลไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวีโดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้ออกมาตรการส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ในส่วนของกระทรวง อว. ได้ประกาศนโยบาย อว. For EV ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ 3 ส่วนหลัก คือ 1. EV-HRD หรือ การพัฒนาบุคลากรด้าน EV 2. EV- Transformation หรือ การให้หน่วยงานภายใน อว. เป็นหน่วยงานเริ่มต้นของภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถ EV และ 3. EV -Innovation ซึ่งผลักดันด้านการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใน Value chain ของอุตสากรรม EV ในประเทศ

ในส่วนความสำคัญของภาคีเครือข่ายนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ภาคีนี้ได้เริ่มต้นจากความร่วมมือในการดำเนินการโครงการนำร่อง ด้วยหน่วยงานในกระทรว อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และบริษัทชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัท GPX, I-Motor, Beta Energy, บางจาก, กริดวิช และ UNC ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแบตเตอรี่แพ็กมาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้กับหลาย operator มีข้อตกลงร่วมสำหรับแพ็กมาตรฐานที่น่าจะใช้งานร่วมกันมาได้สำเร็จ นายศุภชัยกล่าวต่อไปว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับทราบถึงการขยายผลของโครงการข้างต้นในวงกว้าง จากโครงการวิจัย กลายภาคีเครือข่ายระดับประเทศ ขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานสมาชิกก่อตั้งทั้งหกหน่วยงาน ได้แก่ สวทช. สถาบันยานยนต์ สกสว. สอวช. EVAT และ TESTA ผลักดันร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนในห่วงโซ่คุณค่า “ด้วยความร่วมแรงร่วมใจนี้ ผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถสร้างอนาคตของประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย” นายศุภชัยกล่าวปิดท้าย

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้แทน สอวช. ได้ให้ความเห็นว่า “การจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ต้องการพัฒนาและขยายผลการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้ได้กับอุตสาหกรรมเฉพาะด้านอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ยังมีผู้ประกอบการแบตเตอรี่อีกหลายกลุ่มที่ต้องการสร้างความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนการพัฒนาความสามารถอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาแนวทางในการสนับสนุนให้ครอบคลุม เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

ปัจจุบัน สอวช. ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทย และอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการสนับสนุนที่จำเป็นทั้งด้านการเงินและด้านที่มิใช่การเงิน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับการใช้งานที่มีความหลากหลายครอบคลุมอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถของผู้ประกอบการไทยในหลายอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ไปพร้อมๆ กัน ในอนาคต

ขอบคุณภาพถ่ายจาก สวทช. และ TESTA

เรื่องล่าสุด