messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ด้านการพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) ตั้งเป้าหมาย 150,000 คนภายใน 5 ปี

กระทรวง อว. โดย สอวช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ด้านการพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) ตั้งเป้าหมาย 150,000 คนภายใน 5 ปี

วันที่เผยแพร่ 15 กรกฎาคม 2024 871 Views

(10-11 กรกฎาคม 2567) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ชาญวิทย์ อุดมศักดิกุล นักยุทธศาสตร์ 1 ดร.สุจินต์ พูลบุญ นักพัฒนานโยบาย ร่วมกับ ผศ.ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.ธีระศักดิ์ สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นายสุภกิจ ชัยเมืองเลน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวจินตนันท์ ขันไชย หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน นายราเมศ สุขาภิบาล วิศวกร สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา นายอาทร คุ้มฉายา หัวหน้าแผนกวิชาช่างเมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี และนายมนูญ นาจวง หัวหน้าแผนกช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะ ระหว่างวันที่ 10 – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม อาคาร S1 วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบาย “อว. For EV” ประกอบด้วย 3 แผนงานสำคัญคือ 1. การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) 2. การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Transformation) และ 3. การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (EV-Innovation) โดย สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับ มทร.ล้านนา ที่รับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานเชื่อมโยงกับ 8 เครือข่าย มทร. รวมทั้งหน่วยงานภายนอกกระทรวง อว. อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของ อว. For EV และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

บทบาทของ สอวช. จะทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายใต้ อว. และหน่วยงานภายนอก มีเป้าหมายพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการสร้างและพัฒนาทักษะ Upskill, Reskill และ New Skill จำนวน 150,000 คนภายใน 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 5,000 คนต่อปี โดยผ่านกลไกสนับสนุนของ อว.

สำหรับแนวทางการทำงานของ EV-HRD ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบการผลิตกำลังคนที่ยืดหยุ่นและตอบสนองตามความต้องการตำแหน่งงานหรือการจ้างงานโดยตรง 2. การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการใน EV Supply Chain 3. การใช้เครื่องมือ Higher Education Sandbox, บัณฑิตพันธุ์ใหม่หรือ รูปแบบที่มีลักษณะเดียวกัน (ออกแบบโปรแกรม/ขยาย/เพิ่มเติม เพื่อสร้างเครื่องมือต้นแบบเฉพาะด้าน EV Package) และ 4. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญให้แก่ภาคเอกชน การสนับสนุนการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ

ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน ที่ปรึกษาอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า นโยบายของกระทรวง อว. เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง สอวช. มทร.ล้านนา และเครือข่ายวิจัยของ มทร. ล้านนา โดย มทร.ล้านนา เติบโตมาจากการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน และมองอนาคตเรื่องพลังงานทดแทนเป็นหลัก สถาบันฯ ได้วางรูปแบบหน่วยวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยปักธงไว้ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 2. พลังงานแสงอาทิตย์ และ 3. พลังงานไฮโดรเจน โดยด้าน EV สถาบันฯ ได้มีการวิจัยและพัฒนา EV, เทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สาย (Wireless Charging) นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมีเครือข่ายวิจัยร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีโครงการความร่วมมือหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 1+2+1 คือ ในปีที่ 1 นักศึกษาจะเรียนที่ มทร.ล้านนา โดยมีอาจารย์จากจีนมาสอนร่วมด้วย ในปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ไปเรียนที่ประเทศจีน จบแล้วจะได้รับวุฒิ ปวส.จากสถาบันการอาชีวศึกษาจากจีน และในปีที่ 4 กลับมาเรียนที่ มทร.ล้านนา ให้ครบตามหลักสูตร จะได้รับวุฒิปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต นอกจากนี้ มทร.ล้านนา ยังส่งอาจารย์ไปอบรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีการทำ Sandbox โดยใช้เครือข่าย 9 มทร. และอาชีวศึกษา 444 แห่ง ทั่วประเทศ จะสามารถขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ด้านการพัฒนากำลังคนให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย 150,000 คนภายใน 5 ปี ได้แน่นอน

นอกจากนี้ สอวช. มทร.ล้านนา และคณะ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ECU=SHOP ผู้วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ ECU ในรถยนต์ บริษัท ขนส่ง Green Bus ผู้ให้บริการรถโดยสาร (EV Bus) และ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (EV Truck)

เรื่องล่าสุด