messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในโอกาสเปิดตัว “MAGROW Holding Company” บริษัทร่วมทุนเอกชนอย่างเป็นทางการ

กระทรวง อว. โดย สอวช. ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในโอกาสเปิดตัว “MAGROW Holding Company” บริษัทร่วมทุนเอกชนอย่างเป็นทางการ

วันที่เผยแพร่ 18 กรกฎาคม 2024 481 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในโอกาสเปิดตัว Grand Opening “MAGROW Holding Company” บริษัทร่วมทุนเอกชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องอาคม กาญจนประโชติ ชั้น 4 อาคารอำนวย ยศสุข มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเปิดตัวบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นตัวแปรสำคัญสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เตรียมการจัดตั้ง University Holding Company (UHC) มาตั้งแต่ปี 2562 และได้จดทะเบียนจัดตั้ง ในชื่อ MAGROW Holding อย่างเป็นทางการในปีนี้ โดยที่มาของชื่อบริษัทร่วมลงทุนมากจาก Maejo + Agriculture + Grow Together สื่อถึงความหมายที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรของภูมิภาคและเติบโตไปด้วยกัน โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนี้เป็นหนึ่งกลไกในระบบนิเวศนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุน สนับสนุนการเติบโตของ Startup และ Spinoff ตลอดจนขับเคลื่อนผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและประเทศ โดยปัจจุบันมีบริษัทลูกภายใต้มหาวิทยาลัยจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท เฟิร์สท์ ออร์แกนิค ซีดส์ จำกัด และ บริษัท อนิ โปรดัก จำกัด

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้การจัดตั้ง MAGROW Holding Company ประสบความสำเร็จ คือ ความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ การมีตัวอย่างจาก UHC อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและแบ่งปันข้อมูล มีความพร้อมของระบบนิเวศนวัตกรรม มีนักวิจัยกลุ่ม frontier และที่สำคัญคือความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการจัดตั้ง UHC และมองถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก รวมทั้งการมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้เกิดการจัดตั้งได้สำเร็จ

กระทรวง อว. โดย สอวช. เล็งเห็นความสำคัญของ UHC ในการเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) ของไทย โดยได้ผลักดันการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ ระเบียบนี้ได้ปลดล็อกข้อจำกัดและส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐเกิดการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เกิดบริษัทธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อาศัยงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยไทย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

ขอบคุณภาพจาก: ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เรื่องล่าสุด