messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมผ่านกลไกพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม พร้อมแบ่งปันนโยบายสนับสนุน University Holding Company เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Scaleup)

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมผ่านกลไกพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม พร้อมแบ่งปันนโยบายสนับสนุน University Holding Company เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Scaleup)

วันที่เผยแพร่ 24 กรกฎาคม 2024 65 Views

(23 กรกฎาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “Scaling Up Success: Thailand IDE Mentoring Experience – Coach, Cash, Connect” ณ ห้อง MR 210 CD ชั้น 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้งาน อว.แฟร์ เพื่อสร้างความเข้าใจบทบาทของการให้คำปรึกษา การสนับสนุนทางการเงิน การสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนในประเด็นการพัฒนาและโอกาสในระบบการให้คำปรึกษาของธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลปฏิบัติการพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม (IDE Mentoring Operating Model) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Scaleup) โดยมี ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน เข้าร่วม

โดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และอธิบายความสำคัญของระบบการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมในการขยายธุรกิจสำหรับประเทศไทย ซึ่งกระบวนการของระบบพี่เลี้ยงที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) Coach: กระบวนการของการฝึกสอนโดยการให้คำปรึกษา 2) Cash: กระบวนการที่จะได้รับเงินจากนักลงทุน 3) Connect: กระบวนการเชื่อมโยงที่ช่วยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยหน่วยบ่มเพาะเร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จล้วนประกอบด้วยปัจจัย “3Cs” ทั้งสิ้น

ในส่วนของเวทีการเสวนาหัวข้อ “Mentoring for Growth: The Role of Coach, Cash, and Connect” ได้มีการแลกเปลี่ยนภายใต้ประเด็นความสำคัญของการให้คำปรึกษาในการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ (Coach) กลยุทธ์และทรัพยากรทางการเงินในการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Cash) การสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม (Connect) และแนวทางในการส่งเสริมให้เกิด Mentorship network ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอวช. ศ. ภญ. ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สนช. และนายฐิติเดช ตุลารักษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) สำนักงานที่ปรึกษาด้าน การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุง วอชิงตัน โดยมี ดร.อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นางสาวมนันยา กล่าวว่า ประเด็นท้าทายสำคัญในการสร้างระบบพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม คือ การสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มาร่วมตั้งแต่ช่วงการพัฒนากลไกและการผลักดันกลไก รวมทั้งสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาว โดย สอวช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมผ่านกลไก University Holding Company (UHC) หรือ นิติบุคคลเพื่อการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมการสร้างระบบพี่เลี้ยง โดยเฉพาะมิติ Cash และ Connect ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถลงทุนกับนักวิจัยหรือ Startup ภายนอก รวมทั้ง Startup ที่มหาวิทยาลัยไปร่วมลงทุนสามารถใช้ทรัพยากรและเข้าถึงเครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้ด้วย

ศ. ภญ. ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา กล่าวว่า ระบบพี่เลี้ยงช่วยให้ผู้มีประสบการณ์สามารถช่วยให้คำแนะนำในการทำธุรกิจแก่ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือยังขาดประสบการณ์ ซึ่งภายใต้หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต ด้านนวัตกรรมบูรณาการ (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation) สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้บ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการผ่าน A-School Program โดยมี Startup Clinic สำหรับนักศึกษาทั้งในรูปแบบกลุ่มหรือเดี่ยว ช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจกระบวนการคิดแบบผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา

ดร.สุรอรรถ กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม โดยมีแนวทาง Groom Grant และ Growth ที่มีหลักการเช่นเดียวกับ “3Cs” โดย สนช. จะมุ่งเน้นสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืนผ่านการให้ทุนสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และด้านสังคมโดยให้ทุนกับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งกลไกสนับสนุนด้านการเงินประกอบด้วย กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation) กลไกการสนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND) กลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (Standard Testing) กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest) และกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate Co-funding)

นายฐิติเดช กล่าวว่า ในส่วนของบทบาทของสำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สามารถช่วยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้ Startup สามารถเข้าถึง Startup Ecosystem ในสหรัฐอเมริกา เช่น การเข้าถึง Mentor (Coach) นักลงทุน (Cash) ซึ่งเป็นบทบาทของการเชื่อมโยง (Connect) ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของ Startup โดยจากการสำรวจความสำคัญของทั้ง 3Cs ในสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาพบว่า Connect เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดสำหรับการเร่งการเติบโตให้กับ Startup

เรื่องล่าสุด