(30 กรกฎาคม 2567) ดร.สิริพร พิทยโสภณ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมการเสวนารับฟังข้อคิดเห็น ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ผลการศึกษาฯ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมระบบนิเวศ ววน. ของประเทศ” ในการสัมมนาประชาพิจารณ์ (Public Hearing) โครงการทบทวนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ บอลรูม 1 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.สิริพร กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อที่จะนำพาประเทศไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ไทยพัฒนาขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเกิดเป็นสังคมที่มีความยั่งยืน ซึ่งการจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เริ่มจากความร่วมมือของภาครัฐ หน่วยงานรัฐ กระทรวงต่าง ๆ ร่วมกับภาคเอกชน ประชาชน และต่างประเทศ ในการนำ อววน. เข้าไปช่วยสร้างขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และมีคุณภาพระดับนานาชาติ การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิจัย เทคโนโลยี ที่เข้มแข็ง เป็นเลิศ สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมได้ โดยจะต้องมีกลไกการทำงานแบบไตรภาคี (Triple Helix) มีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างขีดความสามารถทางวิทยาการและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีของไทย เพิ่มรายได้และโอกาสให้กับเกษตร วิสาหกิจชุมชน เพิ่มคุณภาพเยาวชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้
จากกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566-2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566-2570 ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 15 แผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายของแผนด้าน ววน. 2566-2570 โดย ดร.สิริพร ได้ยกตัวอย่างแผนงานสำคัญ ได้แก่ ประเด็นเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่จะต้องมองถึงการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พบว่าช่องว่าง (Gap) ที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่น ต้นทุนปัจจัยการผลิตสูง ปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบไม่แน่นอน มีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตได้ตรงตามมาตรฐานน้อย และใช้ระยะเวลาขึ้นทะเบียนนาน ไม่ทันต่อการใช้งาน การจะปิด Gap ดังกล่าวได้ จะต้องอาศัยทั้งการวิจัยและพัฒนา เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กระบวนการผลิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การมีโมเดลธุรกิจที่แข่งขันได้ สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และทางคุณภาพ อาทิ Pilot Plant การมีมาตรฐานสากล การมีระบบรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ดร.สิรพร ยังได้กล่าวถึงข้อมูลสัดส่วนงบประมาณในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เป็นงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมาณ 10,000 ล้านบาท และในภาพรวมโครงการภายใต้กองทุน ววน. ที่เกี่ยวข้องกับอาหารแห่งอนาคตส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งในอนาคต ควรพิจารณาใช้กระบวนการพัฒนาแผนแบบ Agenda-based โดยวิเคราะห์จุดแข็ง ขีดความสามารถของหน่วยงานในระบบ ววน. และภาคเอกชน ประกอบกับการมองแนวโน้มเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญ ควบคู่ไปกับการสร้าง consortium ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และบูรณาการการทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ดร.สิริพร ได้กล่าวถึงมาตรการในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น การทำแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการช่วยปลดล็อกทั้งในเรื่องการทำวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ อีกส่วนหนึ่งที่มีการพูดคุยกันอย่างมากคือเรื่องของการพัฒนาคน เพื่อดึงดูดการลงทุน สอวช. ทำงานร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Plus Package รับรองหลักสูตรการพัฒนากำลังคนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM หรือส่งบุคลากรเข้าไปอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอยกเว้นภาษีได้ ซึ่ง สอวช. มีแนวทางขยายการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน STEM OSS (STEM One-Stop Service) ให้ครอบคลุมกระจายทั่วภูมิภาคของประเทศ อีกหนึ่งกลไกที่ สอวช. ผลักดันให้เกิดขึ้นคือการส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company ให้มหาวิทยาลัยสามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้