messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมแบ่งปันผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ในงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมแบ่งปันผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ในงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่เผยแพร่ 10 สิงหาคม 2024 67 Views

(8 สิงหาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย หัวหน้าโครงการที่ปรึกษาพัฒนาโมเดลปฏิบัติการพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม (IDE Mentoring Operating Model) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Scaleup) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากร (Keynote Speaker) ในหัวข้อ “The Mentoring Engine: Driving Innovation and Scale-Up Success with Coach, Cash, Connect” ภายใต้งาน “Techsauce Global Summit 2024” ในธีม “The World of Tomorrow with AI” ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567

รศ.ดร.ณัฐชา ได้กล่าวถึงการมีระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) ที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับสตาร์ทอัพ ทำให้การระดมทุนสำเร็จ และขับเคลื่อนความสำเร็จในการขยายธุรกิจ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากงานวิจัยที่ สอวช. ดำเนินงานร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาและทดสอบโมเดลปฏิบัติการพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดในประเทศไทย รวมถึงสร้างเครือข่ายพี่เลี้ยง (Mentorship Network) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทย และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายพี่เลี้ยงเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ ได้พบประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของระบบนิเวศการร่วมลงทุนในธุรกิจฐานนวัตกรรม เช่น การขาดแคลนเงินทุนในช่วงเริ่มต้น การเข้าถึงตลาดและการพึ่งพาการเงินจากรัฐบาล การขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัจจัยหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ คุณภาพทีม (Founder and Team) ความสอดคล้องระหว่างผลิตภัณฑ์กับตลาด (Product-Market fit) ความท้าทายมาจากการขาดความเข้าใจตลาดและการเลือกตลาดที่ไม่สามารถขยายได้ และระบบสนับสนุน (Supportive system) เช่น กฎระเบียบไม่เอื้อ การให้ทุนที่ไม่สม่ำเสมอ ขาดความต่อเนื่อง ฯลฯ

นอกจากนี้ ได้เสนอแนะแนวทางการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างผู้เล่นหลัก (key players) ในระบบนิเวศ คือ ผู้ประกอบการ นักลงทุน พี่เลี้ยง สถาบันการศึกษา รัฐบาล และผู้สนับสนุนด้านกฎหมาย โดยทุกฝ่ายควรรวมเป้าหมายเดียวกันอย่าง “One Goal One Team” ในฐานะ “Team Thailand” และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีระบบพี่เลี้ยง (Coach, Cash, Connect) ที่ให้คำปรึกษาระยะยาวเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณผู้ประกอบการระดับโลก เข้าถึงทุนที่รับความเสี่ยงได้ และเชื่อมโยงทรัพยากร สร้างโอกาสและความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้สำหรับการขยายธุรกิจ ผู้สนใจเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาโมเดลพี่เลี้ยงธุรกิจนวัตกรรม (IDE Mentoring Model) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Scaleup) สามารถ Download เอกสาร Whitepaper ของงานวิจัยในระยะที่ 1 ได้ผ่านทาง https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2023/10/2023-IDEs-Mentoring-System-Coach-Cash-Connect.pdf

Tags: #IDE

เรื่องล่าสุด