messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ส่งท้าย “โอลิมปิก 2024” กับ 5 แนวคิดรักษ์โลก

ส่งท้าย “โอลิมปิก 2024” กับ 5 แนวคิดรักษ์โลก

วันที่เผยแพร่ 12 สิงหาคม 2024 406 Views

ปิดฉากลงไปแล้ววเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา กับการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 – 11 สิงหาคม 2567 สอวช. จึงขอรวบยอดสรุปแนวคิดการคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในงานครั้งนี้ที่ต้องบอกว่าพอรู้แล้วก็ใจฟูไปตามๆ กันเลย

จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกัน ดังนั้น ปารีส ในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิก จึงได้ตั้งเป้าหมายให้โอลิมปิกในครั้งนี้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยการพยายามจำกัดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 1.75 ล้านตัน หรือครึ่งหนึ่งจากการจัดงานครั้งที่ผ่านมา มาดูกันว่ามีแนวคิดในการจัดการที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง !!

1. ลดการสร้างใหม่ :

  • เลือกใช้สถานที่จัดการแข่งขันที่มีอยู่แล้วถึง 95% และสร้างใหม่เพียง 5% โดยเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • มีเฟอร์นิเจอร์รีไซเคิล โดยใช้โครงสร้างไม้ช่วยประหยัดพลังงาน
  • ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคาร

2. อาหารรักษ์โลก :

  • อาหารที่เสิร์ฟ มากกว่า 60% เป็นอาหารแบบ Plant-based ที่มี Carbon Footprint น้อยกว่าอาหารทั่วไป
  • วัตถุดิบที่เลือกใช้ในการประกอบอาหารกว่า 80% เป็นวัตถุดิบภายในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง
  • เลือกใช้ภาชนะที่สามารถนำไปรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำได้

3. ลดการเดินทาง ประหยัดพลังงาน :

  • สถานที่แข่งขันทั้งหมด สามารถเดินทางได้ด้วยขนส่งสาธารณะ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที ช่วยลดมลพิษจากการเดินทาง
  • ส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยเพิ่มจักรยานให้เช่า 3,000 คัน และเพิ่มเลนจักรยานรวมระยะทาง 400 กิโลเมตร

4. พลังงานหมุนเวียน 100% :

  • ไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในระหว่างการแข่งขันมาจากพลังงานหมุนเวียน จากแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่งทั่วฝรั่งเศส

5. ใช้วัสดุที่ดีต่อโลก : โดยการนำขยะต่าง ๆ มารีไซเคิลให้เป็นของใช้ภายในงาน เช่น

  • เก้าอี้ผู้ชมจากกระดาษรีไซเคิล
  • เหรียญโอลิมปิกที่ทำจากเศษเหล็กของหอไอเฟล
  • คบเพลิงจากเหล็กรีไซเคิล 100% ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ และยังมีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ใช้เชื้อเพลิงไบโอโพรเพนแทนการเผาไหม้

สอวช. ขอชื่นชมและสนับสนุนแนวคิดการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ซึ่งสามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อีกทั้งทำให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในส่วนของกระทรวง อว. โดย สอวช. ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายโครงการเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือการริเริ่ม “โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Campus” โดยมี 170 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2065 เสริมสร้างให้เกิด Climate Action ภายในมหาวิทยาลัย และสามารถขยายนวัตกรรมต้นแบบที่มีศักยภาพถ่ายทอดออกสู่สังคมและชุมชนวงกว้างได้

ที่มา: https://kidkid.co.th/2024/08/04/olympic-2024/?fbclid=IwY2xjawEhHZRleHRuA2FlbQIxMAABHZc4ydznQoTQk307CbZr0TobjAkb7rOdvblzabKMLIytgCKJ-3uzvTzPkQ_aem_eU-ISQR0OKehH7RKnFJBiQ

เรื่องล่าสุด