
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม (PHOENIX) 2 เมืองทองธานี และผ่านระบบออนไลน์


สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้นำเสนอผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ประจำปี 2567 ไตรมาสที่ 3 โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ 1.ยกระดับไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม ได้มีการส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company มีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (IDE) เช่น iBDS Intermediaries และ Mentorship การใช้นโยบาย Offset ให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากการซื้อสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) Future Food เพื่อลดเวลาเข้าสู่ตลาด อุตสาหกรรม Semiconductor เพื่อเกิดการลงทุนและโปรแกรมเตรียมกำลังคน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้เกิดมาตรฐาน และสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง สู่การผลิตเชิงพาณิชย์

2.ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (Social Mobility) ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ตามนโยบายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยการตั้งโจทย์วิจัยสำหรับพื้นที่สูง เพื่อบรรจุในแผน ววน. นอกจากนี้ยังจัดทำ Social Enterprise Incubation Platform เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้ประกอบการเพื่อสังคม ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3.ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยสร้างระบบนิเวศ ส่งเสริมกลไก อววน. หนุน GHG Net Zero เชื่อมโยงองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน Net Zero จากนานาชาติ สู่ภาคเอกชนไทย ตลอดจนสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมและเมืองต้นแบบ Net Zero Emission และสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุน 50 มหาวิทยาลัยเป็น Net Zero Emission

4.เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% โดยการสร้างแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง Upskill แรงงาน 293,616 คน ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน เกิดจ้างงานแรงงาน STEM 7,094 ตำแหน่ง จาก 139 บริษัท นอกจากนี้ยังสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม พ.ศ. 2568 – 2572 สร้างUniversity Transformation ให้เป็น ต้นแบบการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ร่วมกับอุตสาหกรรม Semiconductor & Advanced Electronics และทดลองผลิตกำลังคนเพื่อตอบความต้องการในระยะเร่งด่วน 5. เพิ่มประสิทธิภาพระบบ อววน. โดยจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ ตามนโยบายบูรณาการการนำเข้าและเชื่อมโยงข้อมูลด้าน อววน. ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตามนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ


ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการประชุม นางสาวศุภมาส ยังได้เชิญชวนให้ผู้เข้าประชุม เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “FUTURE SCIENCE COMMUNITY FOR ALL” เพื่อร่วมส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศ เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนและประชาชนสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12