messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บอร์ด สอวช. ถกโจทย์วิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ชี้!! เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญหยั่งรู้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน

บอร์ด สอวช. ถกโจทย์วิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ชี้!! เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญหยั่งรู้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน

วันที่เผยแพร่ 31 ตุลาคม 2019 412 Views

(30 ตุลาคม 2562) จามจุรีสแควร์ – สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมบอร์ดบริหารสำนักงาน ครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุมหว้ากอ ชั้น 14 สอวช. โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน และมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมประชุม ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นหารือสำคัญคือ การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (System Research for Transformative Changes) ซึ่งรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญและโจทย์สำหรับการวิจัยเชิงระบบ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือถึงการวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง หรือ System Research for Transformative Changes ตามที่เคยได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำข้อมูล โดยการวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก เพราะจะได้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน นำไปสู่ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ การวิจัยเชิงระบบต้องคำนึงถึงประเด็นที่เป็นบริบทโลก (Global Context) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นทำน้อยได้มาก (Paradigm Shift) การปรับเปลี่ยนหรือสร้าง Eco System ที่เหมาะสม ตลอดจนการทันต่อกระแสโลก (Global Trend) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ สอวช. ได้นำเสนอตัวอย่างประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงระบบต่อที่ประชุม ผมได้มอบหมายให้ สอวช. ทำโจทย์การวิจัยเชิงระบบ และร่างโครงสร้างการวิจัยเชิงระบบ 1 – 2 ประเด็น โดยเลือกโจทย์ที่อิงตามเทรนด์โลก การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ระบบการเกษตร รวมถึง Circular Economy และนำมานำเสนอต่อที่ประชุมครั้งต่อไป

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ได้ทำการศึกษาและหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น และได้จัดทำตัวอย่างประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงระบบ โดยได้ดำเนินการจัดทำตัวอย่างหัวข้อวิจัยเชิงระบบมานำเสนอต่อที่ประชุม 5 ด้าน ประกอบด้วย การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา และการวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรองรับ Multistage Life นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอที่ประชุมให้เห็นถึงกระบวนการทำวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่จะเริ่มตั้งแต่ การกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ระบบและผู้เกี่ยวข้อง ออกแบบระบบและกลไกเพื่อทดลองเชิงนโยบาย (Sandbox) การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างกลไกให้เกิดความยั่งยืน และการปรับกฎ ระเบียบรองรับระบบใหม่ โดยการวิจัยเชิงระบบจะเน้นที่สามกระบวนการแรก คือ การกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ระบบและผู้เกี่ยวข้อง และออกแบบระบบและกลไกเพื่อทดลองเชิงนโยบาย (Sandbox) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สอวช. จะดำเนินการค้นหาและเลือกโจทย์วิจัยเชิงระบบ และเริ่มศึกษารายละเอียดเชิงลึก รวมถึงโครงสร้างแต่ละโจทย์วิจัย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด