
(20 สิงหาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” ในพื้นที่เป้าหมาย อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ณ อาคารรวมใจ ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ได้มีการกล่าวต้อนรับโดย นางสาวกาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี และกล่าวเปิดงานโดย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวถึงแนวทางนโยบายต่อการพัฒนาโครงการให้บรรลุตามนโยบายการขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ

นางสาวกาญจน์ชนิษฐา กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีมีหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 109 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันของประเภทขยะ ทั้งขยะเมือง ขยะภาคการเกษตร และขยะอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ในแนวทางการจัดการขยะที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยจังหวัดสระบุรีได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้บรรลุผลครอบคลุมทุกด้าน ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยงานในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการขยะของเหลือทิ้ง และวิธีการคัดแยกของเหลือทิ้ง ลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากการจัดการของเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมและจากชุมชนเมืองให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ สามารถนำต้นแบบเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ชุติมา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บูรณาการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้ เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้งเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้บรรลุผลครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ (Saraburi Sandbox) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง ก้าวไปสู่การเป็นชุมชนสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

ดร.สิริพร กล่าวว่า สอวช. เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ โดยได้ร่วมดำเนินการตั้งแต่ขึ้นรูป Decarbonization Consortium ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 หลังจากมีการประกาศเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 และเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ ‘PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City’ ร่วมกับจังหวัดสระบุรี สมาคมอุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ไทย (TCMA) และอีก 21 หน่วยงาน 7 กระทรวง และได้เชื่อมโยงกับประชาคมนานาชาติในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 และ 28 หรือ COP 27 และ COP 28 ที่ผ่านมาด้วย

สอวช. เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ อววน. และการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ ได้มีความร่วมมือพัฒนาเขตนวัตกรรม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เดินหน้าศึกษาคาร์บอนสู่เมทานอล ยกระดับสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ พัฒนาเขตนวัตกรรม เชื่อมกลไกระดับนานาชาติ สนับสนุนเทคโนโลยีและเงินทุน สู่เป้าหมาย Net Zero Emission และอยู่ในระหว่างการจัดทำความร่วมมือกับ วว. เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการของเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน และช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ

ในการดำเนินงานนี้มีจังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ ในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่มาจากการเกษตรและชุมชนเมือง ให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดของเสีย และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ ทั้งจากภาคนโยบาย สถาบันวิจัยและพัฒนา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมของสังคม ซึ่งสามารถต่อยอดใช้แพลตฟอร์มนี้ที่พัฒนาประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เชื่อมต่อภาคต่างๆ ต่อไปได้


ขอบคุณภาพจาก วว.