messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมหารือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี และหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนากลไกสนับสนุนและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมหารือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี และหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนากลไกสนับสนุนและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วันที่เผยแพร่ 27 สิงหาคม 2024 254 Views

(22 สิงหาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอวช. และ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมภูมิภาคด้วยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนากลไกสนับสนุนและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี รศ. ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  นายสิทธิคุณ เทียมประเสริฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี นายมงคล จุลทัศน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ เข้าร่วมหารือด้วย

ทั้งนี้ นางสาวมนันยา ได้กล่าวถึงโยบายของ สอวช. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมสู่ตลาดต่างประเทศด้วยกลไก E-Commercial and Innovation Platform (ECIP) ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยขยายตลาดสินค้านวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรม หรือ Innovation-driven Enterprise (IDE) ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้าน จำนวน 1,000 ราย ภายในปี พ.ศ. 2570 โดย สอวช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่เป็นกลไกในการพัฒนางานวิจัยไปสู่นวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการ IDE ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ซึ่ง แนวคิด E- Commercial and Innovation Platform (ECIP) ใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของอุทยานวิทยาศาสตร์ และหน่วยบ่มเพาะต่าง ๆ เชื่อมโยงด้วยกลไกการขยายตลาดเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไปสู่ตลาดทั้งช่องทาง E-Commerce และตลาดสมัยใหม่อื่น ๆ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งด้านการพัฒนาส่งเสริมด้านวิจัยและนวัตกรรม ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่โดดเด่น

ต่อมา ดร.ดนัยธัญ ได้นำเสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมภูมิภาคด้วยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ สอวช. กำลังดำเนินการร่วมกับศูนย์ CIC โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและนำร่องกลไกการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างไทยและต่างประเทศผ่านเครือข่ายสถาบันวิจัยและนวัตกรรม และสถาบันความรู้ (Innovation Hub) ในการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์ความร่วมมือระหว่างประเทศในการสนับสนุนผู้ประกอบในการขยายตลาดผ่านรูปแบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border E-commerce (CBEC) โดยประเทศจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ เนื่องด้วยเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังการซื้อสูง อีกทั้งรัฐบาลจีนได้มีนโยบายการสนับสนุนรูปแบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้วยยกเว้นภาษีสำหรับผู้บริโภคชาวจีนที่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งช่องทาง CBEC เป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการ MSMEs ไทยที่มีความพร้อม เนื่องจากเป็นช่องทางสะดวกต่อการนำส่งสินค้าถึงผู้บริโภค อีกทั้งมีกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่าการส่งออกสินค้าผ่านช่องทางปกติ นอกจากนี้ การค้าผ่านช่องทาง Social Commerce ในประเทศจีนยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดสินค้าไปสู่ประเทศจีนได้

จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาดสินค้าไปสู่ประเทศจีน โดยที่ประชุมได้กล่าวถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีจุดแข็งหลายอย่างโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป สินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการศึกษาถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ CIC และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอีกด้วย

หลังจากการหารือ คณะ สอวช. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เยี่ยมชมโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ปัจจุบัน ได้มีการก่อสร้างโครงการโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) สำหรับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และศูนย์พัฒนาศักยภาพเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ที่มีการแบ่งพื้นที่ของโครงการเป็น 4 กลุ่มอาคาร ประกอบด้วย อาคาร Pilot Plant สำหรับการแปรรูปเนื้อสัตว์ อาคาร Pilot Plant สำหรับการแปรรูปผักและผลไม้ อาคาร Pilot Plant สำหรับการพัฒนาสินค้าสมุนไพรและเวชสำอาง และกลุ่มอาคารอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่องล่าสุด