messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. สนับสนุน บพค. เปิดตัว “IGNITING THAILAND’S FOR BRAINPOWER” พลิกโฉมอนาคตของประเทศ

กระทรวง อว. โดย สอวช. สนับสนุน บพค. เปิดตัว “IGNITING THAILAND’S FOR BRAINPOWER” พลิกโฉมอนาคตของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 17 สิงหาคม 2024 213 Views

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้แทน สอวช. และคณะผู้บริหารจากกระทรวง อว. ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน: ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรมจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย “IGNITING THAILAND’S FOR BRAINPOWER” ณ ห้องประชุม Le grand ballroom ชั้น 7 โรงแรม Sofitel Bangkok Sukhumvit โดยภายในงาน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำเสนอแผนงาน และแถลงวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางบุคลากรที่มีทักษะและสมรรถนะสูง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ IGNITE THAILAND โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน จากทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า แนวคิดจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ IGNITING THAILAND’s BRAINPOWER เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง พร้อมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าล้ำยุค ซึ่ง บพค. เป็นอีกกำลังสำคัญหนึ่งของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับโจทย์ความท้าทายนี้ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้เป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ใช้ประโยชน์ อันจะเป็นระบบนิเวศการสร้างและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะและทักษะสูงได้อย่างครบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สำหรับการเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด “บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (Demand-driven platform) โดยแผนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก ทั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วน คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวเร่งให้เราสามารถเดินทางไปสู่จุดหมาย อันเป็นเป้าหมายของการสร้างคนของประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่เยาวชนไทยที่กำลังจะเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ให้มีระบบนิเวศที่เพียบพร้อมรองรับการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ซึ่งกระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้การสร้างและพัฒนาคนเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาคและของโลกต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคม จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้รองรับความผันผวนของเทคโนโลยีด้วยการสร้างทักษะใหม่ ๆ และมีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีทั้ง Hard Skill ที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะในสาขานั้น ๆ Technical Skill ทักษะเชิงเทคนิคอันจำเป็นการทำงานในสายอาชีพ และ Soft Skill ทักษะเชิงสมรรถนะส่วนบุคคลอันจำเป็นการพัฒนาชุดความคิด (Mindset) ซึ่งองค์ประกอบของทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำให้ทรัพยากรบุคคลมีศักยภาพที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของไทยได้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle, EV) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, Al) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

โดยทาง บพค. มีเครื่องมือที่สนับสนุนกลไกการสร้างคน ตั้งแต่ระยะสั้น (Short-term) ที่เป็นการพัฒนาทักษะเดิมเพิ่มทักษะใหม่-อบรมบุคลากรผู้สอน (Reskill/Upskill/Train the trainer) ระยะกลาง (Middle-term) ที่เป็นแพลตฟอร์มนักวิจัยระดับหลังปริญญา (National Post-doctoral/Post-graduate system) และระยะยาว (Long-term) ที่เป็นแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ชัชวิทย์ (Thailand Academy of Sciences, TAS) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรนักวิจัยสมรรถนะสูงตอบโจทย์ตามความต้องการของหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ซึ่งมีงานรองรับหลังสำเร็จการศึกษาวิจัย โอกาสนี้ บพค. มีความพร้อมที่จะแถลงความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพสูงตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม EV จำนวน 3,600 คน อุตสาหกรรม Al ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์และ EV จำนวน 4,400 คน และอุตสาหกรรม Semiconductor จำนวน 9,500 คน ภายใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยมีสัดส่วน นักวิจัยจำนวน 40 คนต่อประชากร 10,000 คนให้ได้ตามเป้าหมายปี 2570 ทั้งนี้ การสร้างกำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะสูงจำเป็นต้องออกจากกรอบแนวความคิดเดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างกลุ่มคนระดับแนวหน้าของประเทศที่เรียกว่า Brainpower อย่างแท้จริง และ บพค. พร้อมที่จะสร้างระบบการพัฒนากำลังคนเหล่านี้ให้คงอยู่ได้ในระยะยาว เพื่อตอบโจทย์การสร้างคนอย่างยั่งยืนและนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “จุดประกายประเทศไทย: พลังคนไทยสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยสถาบันไอเอ็มซี โดยมุ่งเน้นประเด็นความท้าทายของการพัฒนาคนในยุคแห่ง Disruptive Technology เชื่อมโยงไปถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้บรรลุสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านบุคลากรที่มีคุณภาพสูงแห่งภูมิภาคในอนาคต

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า สอวช. มีกลไกและระบบในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคนที่มีศักยภาพสูงในหลายระดับ ทั้งการ Up Skill, Re Skill และ New Skill  

  1. การพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรม EV มีเป้าหมายที่จะผลิตเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านโครงการ EV-HRD ที่มีการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร และการพัฒนาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย และการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
  2. การพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรม AI มีการสนับสนุนการผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านโครงการ Higher Education Sandbox
  3. การพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรม Semiconductor มีการสนับสนุนการยกระดับกำลังคนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านโครงการ STEMPlus, และหลักสูตร Semiconductor Sandbox

สอวช. มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการผลิต พัฒนาและยกระดับ กำลังคนของอุตสาหกรรม EV, AI, และ Semiconductor ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อย่างเร่งด่วน ภายใต้บริบทของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีการดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง และมีแรงกดดันสูงรอบด้าน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่รองรับการแข่งขัน และรักษาอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้ สอวช. มีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการของประเทศ

ขอบคุณรูปภาพจาก สป.อว. และ บพค.

เรื่องล่าสุด