messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ขอแชร์ 4 นวัตกรรม ช่วยแก้ภัยน้ำท่วม

สอวช. ขอแชร์ 4 นวัตกรรม ช่วยแก้ภัยน้ำท่วม

วันที่เผยแพร่ 5 กันยายน 2024 507 Views

ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ จากสถานการณ์ฝนตกหนักมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดทั้งปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ปัญหาดินถล่มที่เกิดขึ้นจากสภาพดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำตามมา เป็นผลให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้ และมีประชาชนได้รับผลกระทบ บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันเกิดนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการเพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นมากมาย สอวช. จึงได้รวบรวมนวัตกรรมที่น่าสนใจ ที่มีส่วนช่วยในการป้องกัน แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงวิธีการรับมือในรูปแบบใหม่ ๆ มาอัปเดตกันว่ามีนวัตกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง มาดูกัน

💡ระบบจัดการน้ำฝนอัจฉริยะ (Flood-Con) : Flood-Con เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ใช้วิธีการจัดการน้ำฝนที่เลียนแบบธรรมชาติของอุทกวิทยาช่วงที่เกิดพายุแบบเรียลไทม์ คือ ระบบโครงสร้างบ่อเก็บน้ำอัจฉริยะ AOS (Automated Outlet Structure) ซึ่งมีประตูเปิด-ปิดเพื่อระบายน้ำออกได้ทั้งใน ระหว่าง หรือหลังเกิดพายุ โดยระบบของ Flood-Con จะตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและความลึกของบ่อ จากนั้นคำนวณปริมาณน้ำที่จะปล่อยให้ไหลจากบ่อด้วยการเลียนแบบอัตราและปริมาณน้ำที่ไหลบ่าตามธรรมชาติ และมีการจัดการปริมาณและคุณภาพน้ำอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งส่งสภาพการณ์ของพายุและข้อมูลสำคัญไปยังระบบคลาวด์ของเราผ่านการเชื่อมต่อมือถือ ทำให้สามารถแจ้งเตือนและรายงานสภาพน้ำฝนได้ในแบบเรียลไทม์ รวมถึงยังมีการมอนิเตอร์น้ำได้ตั้งแต่คุณภาพน้ำทั้งในแม่น้ำ ทะเล หรือทะเลสาบ ลักษณะการไหลของน้ำ อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนในน้ำ ความขุ่น การนำไฟฟ้า โดยใช้เครื่องมอนิเตอร์พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในการทำงาน

💡การระบายน้ำแบบบูรณาการ (Bufferblock) : สตาร์ทอัพสัญชาติดัตช์ ภายใต้ชื่อ “Bufferblock” ได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาน้ำ ด้านการปรับปรุงระบบระบายน้ำผ่านนวัตกรรมวัสดุใหม่ที่สามารถดูดซับน้ำฝนที่ตกหนัก และยังรับมือกับปริมาณน้ำที่ไหล่บ่าท่วมผิวถนนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง ด้วยโครงสร้างท่อระบายน้ำสำหรับใช้ในเขตเมือง Bufferblock ทำจากคอนกรีตรีไซเคิล มีลักษณะเป็นบล็อกทรงสี่เหลี่ยม 2 ช่องต่อท่อน โครงสร้างแข็งแรง ทำหน้าที่เป็นท่อรับน้ำที่จุได้ถึง 266 – 532 ลิตร/ตารางเมตร และยังทนต่อแรงดันน้ำมหาศาลตลอดอายุการใช้งาน สามารถวางใต้ชั้นดินในระดับลึกเพียง 68 เซนติเมตร จะช่วยให้น้ำซึมลงสู่ใต้ผิวดินรวดเร็วขึ้น และยังใช้เครื่องมือตรวจจับสภาพได้เช่นเดียวกับท่อระบายน้ำทั่วไป สำหรับพื้นที่ที่มีสิ่งสกปรกบนท้องถนนจำนวนมากก็ยังสามารถใช้ตัวกรองเพิ่มเติมและบ่อดักตะกอนระหว่างร่องถนนกับระบบระบายน้ำนี้ เพื่อช่วยทำให้น้ำสะอาดขึ้นก่อนจะระบายน้ำออกต่อไป

💡วัสดุใหม่ที่น้ำซึมผ่านได้ (AquiPor) : สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันสายรักษ์โลก สร้างวัสดุผิวแข็งที่น้ำซึมผ่านได้ (Permeable Hard Surface Material) โดยมีความแข็งแรงและทนทานเหมือนคอนกรีต สามารถรองรับน้ำได้สูงถึง 25 นิ้ว/ชั่วโมง “AquiPor” ทำหน้าที่คล้ายตัวกรองน้ำ สามารถกรองฝุ่นละอองและสารก่อมลพิษที่พบในน้ำจากพายุหมุนหรือน้ำท่วมได้มากกว่า 80% ทั้งยังช่วยลดการอุดตันจากสิ่งสกปรก ตะกอน เศษหิน ซากขยะ หรือสารแขวนลอยต่าง ๆ ด้วยความพรุนระดับนาโนที่วัดได้ 1 – 5 ไมครอน ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดพื้นผิวและการบำรุงรักษา โดยวัสดุนี้สามารถใช้เสริมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ หรืออัพเกรดงานก่อสร้างของสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ทางเท้า ลานจอดรถ โดยไม่รบกวนภูมิทัศน์ของเมือง ปัจจุบันเทคโนโลยีวัสดุของ AquiPor กำลังพัฒนาต่อให้เป็นวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีความแข็งแรงและทนทานกว่าคอนกรีตแบบดั้งเดิม สามารถรับแรงอัดได้ 8,000 – 10,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ในขณะที่ยังมีอัตราการดูดซึมน้ำได้เกิน 25 นิ้ว/ชั่วโมง

💡ข้อมูลจากดาวเทียม : โดยการนำข้อมูลจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือการนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจและวางแผนบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญของการติดตามสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วมในไทย มาจากภาพถ่ายดาวเทียมพันธมิตรของ GISTDA จากดวงต่าง ๆ ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลก อาทิ ดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียม Radarsat-2 และดาวเทียม Sentinel-1A ซึ่ง GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ใช้เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลการเกิดอุทกภัยในปีนี้ ตัวอย่างการทำงานของดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติความละเอียดสูงดวงที่ 2 ของประเทศไทย ตัวดาวเทียมมีกล้องบันทึกภาพแบบ Panchromatic ความละเอียดแยกวัตถุขนาด 50 เซนติเมตร และแบบ Multispectral ที่แยกรายละเอียดวัตถุขนาด 2 เมตรบนพื้นดินได้ จากวงโคจร Sun-synchronous ที่ความสูง 621 กิโลเมตร ทำให้สามารถนำภาพถ่ายล่าสุดมาใช้ตรวจดูพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ อาทิ ภาพถ่ายจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เผยให้เห็นแม่น้ำยมปรากฏเป็นสีน้ำตาล ซึ่งบ่งชี้ถึงตะกอนที่ไหลมาตามสายน้ำ เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่ยังมีน้ำท่วมขัง เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลล่าสุด และรายงานสรุปพื้นที่ประสบอุทกภัยในประเทศไทย ได้ทั้งผ่านแฟนเพจของ GISTDA และเว็บไซต์ disaster.gistda.or.th

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างนวัตกรรมที่ สอวช. นำมาแชร์ ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยปัจจุบัน แม้จะยังไม่ได้เห็นภาพการนำนวัตกรรมตามที่เสนอข้างต้นบางตัวมาใช้ในบ้านเรา แต่ทุกภาคส่วนก็ได้ระดมความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว.” ขึ้น เป็นวอร์รูมติดตามสถานการณ์น้ำ ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยได้มีแนวทางการระดมกองทัพโดรนสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก พร้อมเรือไวไฟ (WiFi) ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต บ้านสำเร็จรูป ที่นอนยางพารา ถุงยังชีพที่มีอาหารนวัตกรรมพร้อมทานโดยไม่ต้องอุ่น พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำผ่านทุกช่องทางด้วย

ที่มา: https://www.tcdcmaterial.com/th/article/technology-innovation/33244 และ https://www.bbc.com/thai/articles/crmwdkvj2dko https://www.facebook.com/gistda/

เรื่องล่าสุด