
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเรียนรู้และฝึกใช้งาน Virtual Production Technology ให้กับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ไทย ระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 ณ ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน (Virtual Media Lab) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
โดยกิจกรรมการอบรมในครั้งนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะได้เรียรู้เทคนิคและขั้นตอนการใช้งาน Virtual Production Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานด้านสื่อและมัลติมีเดีย และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้นในระดับสากล ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์และได้ทดลองใช้ Virtual Production Technology ในห้องปฏิบัติการจริง เช่น การทำ Pre-Production การถ่ายทำผลงานด้วยระบบ Virtual Production การใช้โปรแกรม Unreal Engine ในการผลิตผลงาน เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดผลงานของตนได้ในอนาคต



กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนากลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทย” มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านสื่อและมัลติมีเดียให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสื่อและมัลติมีเดียของไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริม Soft power ของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง



ทั้งนี้ ได้มีพิธีปิดกิจกรรมการเรียนรู้และฝึกใช้งาน Virtual Production Technology ณ ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน (Virtual Media Lab) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจากคุณนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานและมอบประกาศนียบัตรให้แก่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรม ในการนี้ ดร.กลวัชร คล้ายนาค รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค ในฐานะประธานกรรมการกำกับโครงการฯ ได้มาร่วมแสดงความยินดีและกล่าวชื่นชมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างทุ่มเทและตั้งใจตลอดระยะเวลาดังกล่าว
