messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมบรรยาย ในงานสัมมนาโครงการดัดแปลงรถสองแถวเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า จัดโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรปราการ

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมบรรยาย ในงานสัมมนาโครงการดัดแปลงรถสองแถวเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า จัดโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรปราการ

วันที่เผยแพร่ 21 สิงหาคม 2024 2310 Views

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย ในฐานะผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าและแนวทางในการพัฒนาดัดแปลง (EV Conversion) ในงานสัมมนาโครงการดัดแปลงรถสองแถวเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ณ ศูนย์ประชุม Moove Event Center ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงพลังงาน โดยในงานดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายอัศวิน อัศวุตมางกุร พลังงานจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธานเปิดพิธี

ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย ได้นำเสนอถึงปัญหาอุปสรรคและความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจะเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ปัญหาวิกฤติค่าพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง หากมีการดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้า จะช่วยประหยัดค่าน้ำมันและประหยัดค่าซ่อมบำรุง 2) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ 80% มาจากภาคขนส่ง รถกระบะดีเซลในกรุงเทพฯ ที่รถไฟฟ้าใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 3) การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Tier 3 จำนวนกว่า 2,000 บริษัทที่ไม่มีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ขาดเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านเสี่ยงต่อการปิดตัวลง และมีอู่เดิมอยู่จำนวนมากซึ่งซ่อมรถไฟฟ้าไม่ได้ รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์เดิมไม่มีการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ ยังต้องการเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ เชิงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในรูปแบบรถกระบะ ถ้าได้รับการสนับสนุนจะมีราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน รถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน อายุ 10 ปีขึ้นไปมีจำนวน 4 ล้านคัน ถ้าดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% คือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ

ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงถือเป็นทางเลือกที่ของตลาดที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าใหม่และต้องการใช้ยานยนต์ที่มีโครงสร้างตัวถังที่มีความคงทนแข็งแรง รถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมมากแต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนในการยกระดับความสามารถในอีกหลายมิติ และผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ การสัมมนาในครั้งนี้จึงถือเป็นการร่วมระดมความเห็นเพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งผลิตเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ในอนาคต

นายอัศวิน กล่าวว่า ตนเองมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาโครงการดัดแปลงรถสองแถวเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า โดยงานสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ผู้ประกอบการรถสองแถว ผู้ประกอบการอู่รถยนต์ สถาบันการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดัดแปลงรถสองแถวเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า โดยทางสำนักงานพลังงานจังหวัดจะสำรวจความต้องการดัดแปลงรถสองแถวจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรถสองแถว หากโครงการได้รับผลตอบรับดี สำนักงานพลังงานจังหวัดจะดำเนินการของบประมาณเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

นายอัศวิน กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้มีหลากหลายประการ ประการแรกผู้ประกอบการรถสองแถวสามารถเพิ่มกำไรได้จากค่าใช้จ่ายพลังงานที่ลดลงหลังการดัดแปลงรถสองแถวไฟฟ้า ประการที่สอง รถสองแถวไฟฟ้าดัดแปลงสามารถตอบโจทย์ด้านสังคมคาร์บอนต่ำได้ ผ่านการลดมลพิษภาคขนส่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ประการที่สาม การทำรถสองแถวไฟฟ้าดัดแปลงสามารถพัฒนาผู้ประกอบการอู่รถยนต์ให้มีความรู้ความสามารถด้านการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมาก อู่ซ่อมรถยนต์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านการซ่อมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นทักษะใหม่ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ หากมองในภาพใหญ่ โครงการนี้สามารถ ตอบสนองต่อเป้าหมายการผลิตของประเทศไทย ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2065 ซึ่งได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26

นายอัศวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เป็นโครงการจุดประกายเริ่มต้น หากทำสำเร็จ จะเป็นโมเดลต้นแบบให้จังหวัดอื่นสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้ในอนาคต ตนหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจะได้รับความรู้ความเข้าใจจากวิทยากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดัดแปลงว่าจุดไหนสามารถดำเนินการได้บ้าง ดำเนินการแล้วมีประโยชน์อย่างไร หากผู้เข้าร่วมสัมมนามีข้อสงสัยข้อเสนอแนะประการใด สามารถแจ้งประเด็นให้กับทางวิทยากรได้

สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จาก 30 หน่วยงาน โดยในงานดังกล่าวประกอบด้วยการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อาทิ เทคโนโลยีไฟฟ้าและยานยนต์สมัยใหม่ โดย ดร.สถาพร ทองวิค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี การดัดแปลงรถสันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดย นายจรูญ พัชนี จากบริษัท EV Garage Thailand จำกัด ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการทำคอนเวอร์ชั่นรถยนต์ไฟฟ้า โดยนายปริพัตร บูรณสิน อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยนายเกียรติณรงค์ ครูบา สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก และ การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาจารย์ภาสกร พันธุ์โอภาส อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าวได้จัดแสดงผลงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จากบริษัทเอกชนผู้ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และบริษัท EV Studio จำกัด

ภายหลังการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรปราการมีแผนจะนำร่องดัดแปลงรถสองแถวในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยอยู่ระหว่างการเสนอขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งหากโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จ โครงการนี้จะเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นได้ปฏิบัติตาม อันจะเป็นการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทยให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศต่อไป

ขอขอบคุณภาพจากทีมงาน Pro-EV

เรื่องล่าสุด