(13 กันยายน 2567) นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นวิทยากรบรรยายในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การรับรองหลักสูตรและการจ้างงาน STEM” จัดโดย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ผ่านระบบออนไลน์ และการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ซึ่งมี ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยได้กล่าวถึงความร่วมมือของสภาดิจิทัลฯ สอวช. และ UNGCNT เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในเครือข่าย หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยให้มีกำลังคนที่พร้อมทั้งความรู้ และความสามารถในการพัฒนาประเทศทางด้าน STEM เพื่อเข้าสู่เวทีการแข่งขันในระดับประเทศได้
ด้าน ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ UNGCNT กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ และ UNGCNT ในการส่งเสริมการจ้างงานและการฝึกอบรมบุคลากรด้าน STEM โดยมี สอวช. ช่วยขับเคลื่อนในเรื่องของสิทธิประโยชน์มาตรการ Thailand Plus Package และแพลตฟอร์ม STEMPlus เพื่อให้สมาชิก หรือผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์จากความร่วมมือนี้ ในการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง และบุคลากรเหล่านี้มีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้
นางสาวภาณิศา ได้แนะนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กระตุ้นให้เกิดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถานประกอบการหรือองค์กร และการจ้างงานด้าน STEM ในมาตรการ Thailand Plus Package ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะที่ 3 พ.ศ. 2566 – 2568 จากพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ในเรื่องการยกเว้นภาษี ฉบับแรกว่าด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยื่นคำขอรับรองการจ้างงานผ่านเว็บไซต์ STEMPlus และมีการจ้างพนักงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา สามารถนำค่าใช้จ่าย “เงินเดือน” พนักงานมายกเว้นภาษีเงินได้ 150% จากกรมสรรพากร และฉบับที่สองเรื่องของการส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้าน STEM ในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก สอวช. สามารถขอรับรองหลักสูตรผ่านทางเว็บไซต์ STEMPlus ได้เช่นกัน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักสูตร จะต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับทักษะที่ อว. ประกาศ ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีเนื้อหาในหลักสูตรสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ วิทยากรผู้สอนมีความเชี่ยวชาญที่ในเนื้อหาหลักสูตรที่จัดฝึกอบรม ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมมายกเว้นภาษีเงินได้ 250% จากกรม
สรรพากรได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นางสาวภาณิศา ยังได้แนะนำขั้นตอนการใช้งานเว็บไซต์ www.stemplus.or.th ตั้งแต่การเตรียมเอกสารประกอบ ทั้งในส่วนการขอรับรองการจ้างงาน STEM การยื่นขอรับรองหลักสูตร รวมถึงการส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง โดย สอวช. เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเตรียมความพร้อมได้ก่อนการใช้ระบบจริง โดยล่าสุดมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองในมาตรการฯ นี้แล้ว กว่า 1,000 หลักสูตร ที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้าน STEM เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการแข่งขัน เข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจชั้นนำ และยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้าน STEM อีกด้วย