messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเวทีเอกชน ฉายภาพนโยบายรัฐ บีซีจี โมเดล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สอวช. ร่วมเวทีเอกชน ฉายภาพนโยบายรัฐ บีซีจี โมเดล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 7 พฤศจิกายน 2019 560 Views

(7 พ.ย. 62) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวปาฐกถา “นวัตกรรม Syn Bio สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา Syn Bio Forum 2019 ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก ณ ชั้น 8 อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.กิติพงค์ เปิดเผยช่วงหนึ่งของการปาฐกถาว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรประเทศ และมีแนวคิดในการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบ Less is more หรือ ใช้น้อยแต่ให้ผลมาก ตลอดจนมีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยเฉพาะนโยบาย BCG in Action (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย Bioeconomy จะเป็นการมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลากหลายสาขามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดนวัตกรรม Circular Economy ระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต และ Green Economy เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

นโยบาย BCG in Action เป็นนโยบายที่มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ Syn Bio โดย BCG in Action มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว สอวช. ได้วางนโยบายนำร่องใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทั้งนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาตร์ของนโยบาย BCG ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ด้านการสร้างคุณค่า (Value creation) ซึ่ง BCG ถือเป็นนโยบายที่จะสร้างความมั่งคั่งและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2565 เกิดการสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรม BCG เกิดตำแหน่งงานรายได้สูง และเพิ่มระดับรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม BCG โดยมีจ้างงานกลุ่ม Highly-skill talents, Innovative entrepreneurs และงานรายได้สูง 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 10 ปี และเกิด Startup และ IDEs ที่เกี่ยวกับ BCG 10,000 ราย ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ นโยบาย BCG จะช่วยเพิ่มรายได้ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยจะช่วยให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 240,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และภายใน 5 ปี ดัชนีความมั่นคงทางอาหารไทยติดท็อป 5 ของโลก และมีการเข้าถึงยาชีววัตถุอย่างน้อย 300,000 คนต่อปี ส่วนด้านความมั่นคงบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ BCG จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน ปริมาณขยะลดลง 16.5 ล้านตัน และการจัดการท่องเที่ยวและคอนเทนต์ท่องเที่ยวติดอันดับท็อป 3 ของเอเชียแปซิฟิก

“BCG Model เป็นนโยบายที่พัฒนาตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนเป็นนโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยังส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากด้วย นอกจากนโยบาย BCG แล้ว สอวช. ยังดำเนินนโยบายการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยเอาจุดแข็งของประเทศ มาผลักดันให้เกิดการกล้าคิด กล้าลองที่จะกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อกำหนดอนาคตประเทศ โดยนโยบายนี้เองได้กำหนดโจทย์วิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับ Syn Bio เช่น โจทย์วิจัยอาหารเฉพาะบุคคล โภชนพันธุศาสตร์ โจทย์วิจัยการแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า อาทิ การแพทย์จีโนมิกส์ การค้นพบยาชนิดใหม่ โจทย์วิจัยพลังงานแห่งอนาคต อาทิ วัสดุขั้นสูง วัสดุสำหรับการผลิตและกักเก็บพลังงาน เป็นต้น ซึ่งการวิจัยขั้นแนวหน้าเป็นนโยบายเพื่อมุ่งการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายลักษณะดังกล่าว ต้องมองอย่างรอบทิศและคำนึงถึงจริยธรรมด้านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2563 อยู่ที่ 1.2% ต่อ GDP หรือ 212,340 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 25% หรือ 53,085 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือ 159,255 ล้านบาท โดยมีแนวทางกระบวนการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่ที่เน้นตอบโจทย์ประเทศ มุ่งเน้นเป้าหมาย ลงลึกเพื่อความเป็นเลิศ และเกิดผลกระทบสูง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสนับสนุน Syn Bio ที่ผ่านมา สอวช. เคยให้การสนับสนุนผ่านแผนงานสเปียร์เฮดด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้าน Biologics ในการพัฒนายาชีววัตถุต้นแบบเพื่อใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก พัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึงสำหรับกระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดที่สามารถผลิตในประเทศไทยตามมาตรฐานยุโรป รวมถึงการพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพเทียบเท่าและสามารถแข่งขันได้ สำหรับ Syn Bio ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้มีการสนับสนุนแผนงานด้านเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบมันสำปะหลัง เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด