messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จับมือ 7 กระทรวง 21 หน่วยงาน เดินหน้า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกเชื่อมต่อกองทุนนานาชาติ พัฒนาการทำงานเชิงนวัตกรรมในพื้นที่

กระทรวง อว. โดย สอวช. จับมือ 7 กระทรวง 21 หน่วยงาน เดินหน้า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกเชื่อมต่อกองทุนนานาชาติ พัฒนาการทำงานเชิงนวัตกรรมในพื้นที่

วันที่เผยแพร่ 28 กันยายน 2024 342 Views

(27 กันยายน 2567) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. (โยธี) กระทรวง อว. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือ การรายงานความก้าวหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox) ภายใต้บทบาท สอวช.

ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวรายงานความก้าวหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ภายใต้บทบาท สอวช. หลังจากที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ สอวช. ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 โดย สอวช. ได้ทำความร่วมมือกับ 7 กระทรวง 21 หน่วยงาน และได้มีการขับเคลื่อนในโปรแกรมนวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบ ด้วยการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในจังหวัดสระบุรี ให้เป็นเมืองต้นแบบที่นำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนที่ผ่านมานั้น ช่วยประหยัดทรัพยากร ในมิติงบประมาณ เวลา ทั้งในภาพการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวอย่างก้าวกระโดด ลดความเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การรักษาขีดความสามารถของภาคเอกชนและประเทศในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีมาตรการและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งบทบาทประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติผ่านกลไกถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่มีความพยายามเชื่อมต่อกลไกกองทุนนานาชาติอย่างกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ที่มีงบประมาณหนึ่งพันล้านล้านดอลล่าสหรัฐ

ดร.ศรวณีย์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับเวทีระดับนานาชาติ และระดับชาติในเรื่องนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) เป็นหลัก รวมทั้งการแสดงบทบาทของไทยในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุน ทั้งมิติเทคโนโลยี การเงิน ในรูปแบบพหุภาคี (Multilateral) และทวิภาคี (Bilateral) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการทำงานเชิงนวัตกรรม ให้มีการสอดประสานการทำงานและเชื่อมต่อเทคโนโลยีข้ามภาคส่วน ช่วยประหยัดงบประมาณ เวลาในการพัฒนา และประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองได้ เช่น การยกระดับตาลเดี่ยวโมเดลให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ร่วมกับการสร้างมูลค่าให้กับชุมชนในพื้นที่ หรือการสร้างความเป็นไปได้จากการใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจกเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล ซึ่งจากการศึกษานี้จะนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่ใช้ได้จริงร่วมกับพื้นที่และภาคเอกชนของประเทศไทยต่อไป รวมทั้งสร้างนโยบาย กลไก มาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับแนวทางการทำงานที่สามารถยกระดับเป็นภาพรวมประเทศในอนาคตได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขึ้นรูปการสนับสนุนจากนานาชาติต่อไป โดยอยู่ในระหว่างดำเนินงานร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม UNFCCC และสาธารณรัฐเกาหลี

เรื่องล่าสุด