messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ภาครัฐวางแนวทางหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าเสริม พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ภาครัฐวางแนวทางหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าเสริม พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

วันที่เผยแพร่ 1 ตุลาคม 2024 583 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการในการเสวนา Journey to Impact: การยกระดับและเสริมสร้างความเชื่อมั่น-การยอมรับ Functional Food & Ingredients โดย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมสร้างเส้นทางยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีไปสู่เป้าหมายในการเป็น Food Hub ของโลก ในงาน TRIUP FAIR 2024 “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2567” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

นางสาวสิรินยา กล่าวว่า การยกระดับเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ Functional Food & Ingredients ที่มาจากนวัตกรรมของคนไทยเป็นสิ่งที่นักวิจัยและผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากอาหารฟังก์ชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการพูดถึงในวงการวิจัยว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้และบริโภคอาหารประเภทนี้มากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารในอันดับต้น ๆ ของโลก การมีอุตสาหกรรมใหม่ คือ อาหารอนาคตในกลุ่มอาหารฟังก์ชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่นี้ขึ้นมาเพราะอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องใช้การวิจัยที่เข้มข้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพบกับความท้าทายจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและภาวะภัยแล้ง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านวัตถุดิบ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมาจากภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ รวมถึงการแปรรูป ซึ่งปัจจุบัน 25% ของแรงงานไทยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ แนวคิดหลักของรัฐบาลจึงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับภาคการเกษตรและปศุสัตว์ของไทยขึ้นมาเป็นอาหารที่สร้างมูลค่าได้ เนื่องจากเรามีโอกาสจากตลาดอาหารฮาลาลที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และตลาดอาหารฟังก์ชันที่คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม สร้างรายได้” จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทย “ตลาดนำ” ต้องดูว่าผู้บริโภคคือใคร ความต้องการเป็นอย่างไร แล้วมาดูว่าเรามีวัตถุดิบ หรือ ingredient อะไรบ้าง และส่วนของ “นวัตกรรมเสริม” คือ การนำนวัตกรรมที่มีอยู่มาขับเคลื่อน อาทิ การค้นคว้าวิจัย การปลูกพืชแบบคาร์บอนต่ำ การแปรรูปรูปแบบใหม่เพิ่มมูลค่าอาหาร เช่น การฟรีซดราย (Freeze Dry) ซึ่งรัฐบาลมีกลไกในการส่งเสริมการผลิตอาหารคุณภาพและผลักดันเข้าสู่ตลาด ทั้งในประเทศ และนำออกไปโชว์เคสและส่งออกสู่ต่างประเทศแล้ว ทาง อว. จึงต้องร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกลไกนี้ นอกจากนี้ ภาครัฐกำลังจะออก พรบ. อำนวยความสะดวกฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่จะช่วยให้การบริการภาครัฐและการขอใบอนุญาตสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์และทำให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐต้องช่วยสร้างมาตรฐานการผลิต ที่รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในกระบวนการผลิต (Accountability) และผลักดันให้มาตรฐานทั้งกระบวนการอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยนายศึกษิษฏ์ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้ไทยเป็น Food Hub ของโลก

“เราต้องบริหารการให้ทุนที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ หาโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน ผ่านการวิจัยที่สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์และเข้าสู่ตลาดได้เร็ว ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน ถ้างานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน และทำให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยอย่างรอบด้าน” นายศึกษิษฏ์ กล่าว

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารอนาคตที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากนิยามอาหารแห่งอนาคตไทยพบว่าตอบโจทย์ในเรื่อง Future Well-Being, Sustainability และ Innovation โดยในเรื่องความยั่งยืนตอบโจทย์ชัดมาก จากการบริโภคอาหารที่ผ่านนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสถานการณ์อาหารอนาคตมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคเริ่มรับรู้เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และหันมารับประทานอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ส่งผลให้อัตราการส่งออกอาหารอนาคตในช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตขึ้นสูงสุดถึง 24% และข้อมูลการส่งออกอาหารอนาคตไทยในปี 2024 ช่วงครึ่งปีแรก กว่า 43% อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอีก 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน EU27 และสหราชอาณาจักร ซึ่งกลุ่มอาหารที่มีการส่งออกมากคือ กลุ่ม Nutrition Food อาทิ กลุ่มซอสเครื่องปรุงรสและขนมทานเล่นต่างๆ ที่มีการปรับสูตรเพื่อให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สูตรลดโซเดียม ลดน้ำตาล ลดไขมัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผลไม้อบแห้ง ที่ให้ไฟเบอร์สูงและมีสูตรปรับลดน้ำตาลต่างๆ นอกจากนั้นสินค้าที่มีการส่งออกมากและมาแรงในช่วงนี้ ได้แก่ กลุ่ม Functional Drink อาทิ เครื่องดื่มผสมวิตามิน น้ำแร่เสริมวิตามิน น้ำผลไม้ต่างๆ และสินค้าในกลุ่มโพรไบโอติกส์ก็มีการเติบโตที่ดี เพราะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยตรง ส่วนในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่เติบโตมากจะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น นมถั่วเหลือง นมโอ๊ต นมอัลมอนด์ ส่วนในกลุ่ม Functional Ingredient ประเทศไทยก็มีการส่งออกเช่นเดียวกัน อาทิ ของผสมที่ปรุงแต่งกลิ่นสำหรับอุตสาหกรรม สิ่งเข้มข้นสำหรับเจือจางสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เอสเซนเชียลออยล์ ผงสมุนไพร เช่น ขิง ขมิ้น และอาหารเสริมอื่นๆ เป็นต้น ดร.วิศิษฐ์ ยังได้ฝากถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่จะต้องให้ความสำคัญด้วย คือ อาหารต้องเพียงพอ ประชาชนเข้าถึงได้ และมีโภชนาการที่ดี เชื่อมโยงกับการทำตลาดที่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องตามเทรนด์ ตามความต้องการของผู้บริโภคให้ทัน

ด้านเภสัชกรเลิศชาย กล่าวถึงการดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย อย. ได้ยึดการทำงานตาม Core Value 5S ที่ประกอบด้วย 1.Speed เพิ่มความเร็วในการดำเนินการ 2.Safety ความปลอดภัย 3.Satisfaction ความพึงพอใจ 4.Shift ปรับบทบาทจากหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ไปเป็นหน่วยงานสนับสนุน (Supporter) และ 5.Sustainability ตอบโจทย์ความยั่งยืน ที่ไม่เฉพาะกับโลกแต่เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ ประชาชนและองค์กรด้วย

การขับเคลื่อนต่อในปีหน้า อย. วางแนวคิดขับเคลื่อนผ่าน Triple-A Policy Impact Ignite Thailand: FDA EcPRESSO ABCD ซึ่ง Triple-A ได้แก่ Approve Anywhere Anytime ส่วนของ Ec คือ การตอบโจทย์การออก e-certificate ของราชการที่จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ และต้องมี PRESS ในเรื่องการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ ส่วน O คือ Opportunity หรือโอกาส โดยในตอนนี้ทาง อย. อยู่ระหว่างการจัดทำ Positive Lists หรือ การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลากในส่วนบัญชีข้อความกล่าวอ้างหน้าที่อื่นของอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร (Other function claims) โดยมีแผนว่าภายใน 3 ปี ต้องการให้เกิดอย่างน้อย 150 Positive Lists ส่วน ABCD นั้น A คือ Ambassador สร้างให้เกิด Soft Power Ambassador จากสารสกัดในไทย B คือ Business Matching การพูดคุยกับผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นทาง เชื่อมโยงกับการทำงานวิจัย C คือ Co-creator หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเป้าหมายร่วมกัน ร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์ และ D คือ Development ไม่หยุดพัฒนา ทั้งในแง่ทุนมนุษย์ การส่งบุคคลากรไปเรียนเสริมความรู้ และการใช้ความรู้ Lesson Learn ที่ได้จากผู้ประกอบการ และอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างโอกาสเรื่องเวลา ในการลดเวลาการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการลง 50%

“นักวิจัยที่ทำงานอยู่ต้องอย่ากลัวราชการ ต้องติดต่อราชการไว้ เพราะถ้ายิ่งห่างข้อมูล จะยิ่งห่างความเข้าใจ และอาจจะทำให้เสียโอกาสบางอย่างไป ต้องมีการผสานการทำงานร่วมกัน โดยมีตัวกลางในการขับเคลื่อนเชื่อมประสานการทำงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” เภสัชกรเลิศชาย กล่าว

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวว่า Future Food มาจากเมกะเทรนด์ของโลกเรื่องสุขภาพ ผนวกกับการนำเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งเสริมช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้ามองถึงระบบนิเวศในการทำ Future Food ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางปลอดภัย ในการทำการเกษตร ซึ่ง วว. มีห่วงโซ่คุณค่าการทำเกษตรปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อน มีการพัฒนาการทำแปรรูป มีหน่วยรับรองคุณภาพตามที่ อย. กำหนด และมีโครงสร้างพื้นฐานในส่วนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ แต่การจะทำให้เกิดเป็น Functional Food อาจจะเป็นเส้นทางที่ใช้เวลานาน เพราะการจะทำของให้มีมูลค่าสูงต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือสูงเช่นกัน ต้องคิดว่าจะนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเสริมได้อย่างไร ซึ่งถ้าในอนาคตมีการขึ้นทะเบียน Positive Lists ไว้ในจำนวนมาก ก็จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตภัณฑ์ให้สั้นลง และถ้ามีการทำ Pool Resource ใช้ทรัพยากรร่วมกันก็น่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้น

“เวลาที่หน่วยงานวิจัยทำงานร่วมกับเอกชน สิ่งที่เอกชนต้องการ คือ ความเร็ว ให้ทันต่อธุรกิจ ซึ่งความเร็วจะเกิดขึ้นได้ต้องมีฐานข้อมูลที่รวมไว้ ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ส่งเสริมให้มีการทำนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) แบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยตอบโจทย์สาธารณะและตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น ที่สำคัญ คือ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกันด้วย”
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าว

รศ.ดร.วาณี กล่าวถึงการให้ทุนของ บพข. แผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง แผนงาน F3 เป็น Flagship ในการยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredient, Functional Food, Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจ BCG บทบาทของ บพข. คือ การให้ทุนวิจัยเพื่อเข้าไปปิดช่องว่างต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการขยายสเกลการผลิตจากห้องปฏิบัติการออกสู่ตลาด ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยี และการผลักดันให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐาน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูงทั้งระบบ ที่ผ่านมา บพข. ได้สนับสนุนทุนเพื่อพัฒนา Scale-up Pilot Plant, ศูนย์วิจัยพัฒนาและทดสอบ, ฐานข้อมูล, systematic review, promotion publication รวมถึงโครงการความร่วมมือกับ อย. เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันมี Functional Ingredient & Food มูลค่าสูง ที่ บพข. ให้การสนับสนุนสามารถพัฒนาขยายสเกลออกตลาดแล้ว และเตรียมพร้อมออกตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ รศ.ดร.วาณี ยังได้ย้ำว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) คือ สิ่งที่จะทำให้ประเทศแข่งขันได้ ซึ่งงานวิจัยไม่ใช่เฉพาะการตอบโจทย์ในปัจจุบัน แต่เป็นในอนาคตด้วย ดังนั้นการพัฒนาระบบวิจัยที่เข้มแข็งของประเทศ ต้องสร้างตั้งแต่เยาวชน และไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่ในภาคเอกชนด้วย ความร่วมมือของทุกภาคส่วนสำคัญที่สุด และเน้นย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรม Functional Ingredient, Functional Food, Novel Food รวมทั้ง Premium Pet Food ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้

เรื่องล่าสุด