เทศกาลกินเจปีนี้ ชวนทุกคนมาอิ่มบุญ อิ่มใจ อร่อยแบบไม่จำเจ ด้วยอาหารโปรตีนทางเลือกจากพืช “Plant Based Food” ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก
อีกหนึ่งทางเลือกในเทศกาลกินเจปีนี้ กับ Plant Based Food อาหารที่มีโปรตีนซึ่งสกัดหรือผลิตจากพืช โดยไม่ใช้ส่วนผสมจากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยอาหารประเภทนี้มักจะประกอบไปด้วย ถั่ว ธัญพืช เมล็ดพืช และพืชผักอื่น ๆ ที่มีโปรตีนสูง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีรูปลักษณ์และรสชาติคล้ายกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่มีที่มาจากพืชทั้งหมด อย่างไรก็ตาม “Plant Based Food” ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์มากขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ทุกเมนู Plant Based จะเป็นอาหารเจ เพราะส่วนประกอบของอาหาร Plant Based บางเมนู อาจประกอบด้วยส่วนผสมที่คนกินเจห้ามทาน เช่น กระเทียม หัวหอม เป็นต้น เพราะฉะนั้นคนทานเจควรดูส่วนประกอบก่อนรับประทานนะคะ
แล้ว Plant Based Protein ได้มาจากแหล่งไหนกันบ้าง?
1. กลุ่มถั่ว (Legumes) : ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วเขียว ถั่วลูกไก่ หรือถั่วชนิดอื่น ๆ
2. กลุ่มพืชหัว (Tubers) : มันฝรั่ง มันสำปะหลัง
3. กลุ่มธัญพืช (Cereals) : ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ควินัว
4. กลุ่มสาหร่าย (Algae) : สาหร่ายสีน้ำตาล ไก
5. กลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nuts) : อัลมอนด์ วอลนัท
6. กลุ่มพืชใหม่ (Novel Plant) : ไข่น้ำ หรือ ผำ (Wolffia) เห็ดแครง (Spilt Gill Mushroom)
Plant Based Food ไม่ได้แค่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังดีต่อทุกอย่างรอบตัวเรา!
#ดีต่อสุขภาพ : ลดคอเลสเตอรอลจากการทานไขมันสัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ
#ดีต่อสัตว์ : ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ลดการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ลดการทรมานสัตว์ในฟาร์ม
#ดีต่อโลก : ปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ 10 เท่า
#ดีต่อความมั่นคงทางอาหาร : ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ได้อาหารมากขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
#ดีต่อต้นทุนการผลิต : ใช้ต้นทุนต่ำ และใช้พื้นที่น้อยกว่าการทำอุตสาหกรรมอาหารแบบเดิม แถมได้โปรตีนที่ผลิตได้รวดเร็วมากกว่าโปรตีนจากการเลี้ยงสัตว์
#ดีต่อเศรษฐกิจไทย : ช่วยส่งเสริมไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก Future Food ส่งเสริมรายได้เกษตรกรและสตาร์ทอัพไทยในการผลิตวัตถุดิบใหม่ ๆ เช่น เห็ดแครง ผำ
สอวช. สนับสนุนการบริโภค Plant Based Food ภายในประเทศเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมที่ยั่งยืน และเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรต้นน้ำในการผลิตพืชอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังได้ร่วมผลักดันการตั้งโรงงานสารสกัดโปรตีนและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันด้วยเทคโนโลยีการสกัดขั้นสูง อย่างน้อย 5 โรงงาน ให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2570 เพื่อเป็นข้อต่อกลางน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
และในส่วนของสำนักงาน สอวช. ยังได้ริเริ่มกิจกรรม “Plant Based Food Campaign in NXPO” โดยร่วมรณรงค์การบริโภคอาหาร “Plant Based” ในการประชุมหรือกิจกรรมภายในองค์กร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของไทยไปสู่เป้าหมาย 500,000 ล้านบาท ในปี 2570 โดยรณรงค์ให้มีการบริโภคอาหารโปรตีนทางเลือกในการประชุมหรือกิจกรรมภายในองค์กรอย่างน้อย 30% ของมื้ออาหารปกติด้วย
สอวช. จึงขอเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงท่านที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำแนวคิดบริโภคอาหาร “Plant Based” ในมื้ออาหารการประชุมหรือกิจกรรมภายในองค์กรของตนเองไปปรับใช้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของไทยไปด้วยกัน