messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ภายใต้กระทรวง อว. เข้าร่วมแสดงเจตจำนงค์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในงาน PackBack in Action ปี 3 ร่วมกับ 149 องค์กรเดินหน้าปลดล็อกกฎหมาย EPR ปูทางเรียกคืนบรรจุภัณฑ์สู่วงจรรีไซเคิล

สอวช. ภายใต้กระทรวง อว. เข้าร่วมแสดงเจตจำนงค์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในงาน PackBack in Action ปี 3 ร่วมกับ 149 องค์กรเดินหน้าปลดล็อกกฎหมาย EPR ปูทางเรียกคืนบรรจุภัณฑ์สู่วงจรรีไซเคิล

วันที่เผยแพร่ 4 ตุลาคม 2024 336 Views

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมแสดงเจตจำนงค์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับ 149 องค์กร โดยมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. เป็นผู้เทนเพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility: EPR ในงาน “PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand” เพื่อประกาศเจตจำนงผลักดันการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย พร้อมสมาชิกใหม่อีก 48 ราย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน EPR กล่าวเปิดงาน สะท้อนความก้าวหน้า ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการพัฒนาระบบ EPR ด้านบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน จัดงาน “PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand” เพื่อแสดงเจตจำนงการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน โดยผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พรบ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท. ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570 นี้

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรึไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวย้ำถึงบทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อน EPR ร่วมกับภาครัฐในครั้งนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมกลยุทธ์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมา TIPMSE ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการให้ความเห็นต่อการพัฒนาร่างกฎหมาย EPR การพัฒนามาตรการจูงใจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับระบบ EPR การส่งเสริมการออกแบบตามหลักการการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design-for- recycling หรือ D4R) การสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ (Call to Action) ในห่วงโซ่ความรับผิดชอบ และการนำหลักการ EPR มาสู่การทดลองทั้งโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี โดยนำร่องใน 3 เทศบาลประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และจะขยายไปอีก 9 เทศบาลในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บขนของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่นที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ซึ่งความท้าทาย อยู่ที่การทำอย่างไรให้ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กเข้าใจและเข้าร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ EPR ภาคบังคับในอนาคตได้

ทั้งนี้ การพัฒนากลไก EPR โดยใช้ระบบภาคการผลิต จะเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  สอดรับนโยบายภาครัฐในการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่นำเอาจุดแข็งของประเทศไทยมาพัฒนา โดยเฉพาะการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) มาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังนำมาพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่ที่คำนึงถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ

ดังนั้นการเกิดระบบ EPR ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกในการจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร เนื่องจากกฎหมายขยะปัจจุบันยังมีช่องโหว่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เพียงเก็บขนกำจัดอย่างเดียว แต่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิล การประกาศ EPR เป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570 นี้ จึงเป็นเหมือนสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เรื่องล่าสุด