messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมเสวนา Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ภายใต้หัวข้อ Climate Tech เทคโนโลยีเพื่อวิถี low-carbon (Technology for climate friendly future)

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมเสวนา Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ภายใต้หัวข้อ Climate Tech เทคโนโลยีเพื่อวิถี low-carbon (Technology for climate friendly future)

วันที่เผยแพร่ 7 ตุลาคม 2024 94 Views

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. เป็นผู้ดำเนินรายการการเสวนาในหัวข้อ “Climate Tech: เทคโนโลยีเพื่อวิถี Low-Carbon (Technology for Climate Friendly Future)” ภายใต้การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024) ณ SX Grand Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้เสวนาประกอบด้วย ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายศุภฤกษ์ นุ่มดี รองนายกเทศมนตรีตำบลเดิมบาง ศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนนาแปลงใหญ่ เกษตรสมัยใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG)

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

จากประเด็นการเสวนาของผู้เข้าร่วมทุกท่าน ดร.ศรวณีย์ ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพคนไทยในการพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยีทางสภาพภูมิอากาศที่พัฒนาโดยคนไทย ที่มีความสามารถในระดับไม่แพ้ระดับนานาชาติ สามารถยกระดับเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหรือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ (Net Zero Emission) โดย ดร.อัศมน ได้เสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องการจัดทำ Heat Index เพื่อประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดความร้อน รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยในแต่ละภูมิภาคของไทยมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องมือวัดความร้อนและการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนผลกระทบ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

นายศุภฤกษ์ ได้นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือข้าวคาร์บอนต่ำ ประยุกต์ใช้หลักคิด “4 ป” ได้แก่ ปรับหน้าดิน เปียกสลับแห้ง ปุ๋ยวิเคราะห์ และแปรสภาพฟางตอซัง ไม่เผาฟางข้าว และเพิ่ม IPM เพื่อลดการใช้สารเคมี พร้อมทั้งช่วยระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA)

นพ.วีรฉัตร ได้นำเสนอนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นสินค้าที่มีจัดจำหน่ายและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเป็นนวัตกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร และฟางข้าว และผลิตภัณฑ์นี้จะย่อยสลายได้ในดินภายใน 45 วัน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทดแทนการใช้โฟมและพลาสติกในชีวิตประจำวันได้ โดยในทุกขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์เน้นการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ และดำเนินการตามแนวคิด Circular Economy ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ส่วนสุดท้ายของการนำเสนอ นายปิยบุตร ได้นำเสนอเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับ Climate Technology ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) แพลตฟอร์มการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Management Platform) ได้นำเสนอเทคโนโลยีไฮโดรเจนในระดับการสาธิต (Demonstration Scale) ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยร่วมกับ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นอกจากนี้ บริษัท BIG ใช้แพลตฟอร์มในการศึกษาแต่ละขอบข่ายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope of Carbon Emissions) โดยอาศัยเทคโนโลยี Internet of thing (IoT) ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การลดการปล่อยคาร์บอน และนำพลังงานไฮโดรเจนมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งลดต้นทุนในการใช้ไฮโดรเจนด้วยการดำเนินการร่วมกับพันธมิตร (Partner) ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างคือการจับมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำนวัตกรรมไฮโดรเจนมาใช้สำหรับภาคการขนส่งโดยเฉพาะ

ดร.ศรวณีย์ ได้กล่าวสรุปปิดท้ายเสวนาว่าเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรามีศักยภาพทั้งในมิติเชิง Sector และในประเด็นเรื่องการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เราต้องมีการเชื่อมต่อการทำงานข้ามภาคส่วนและ Sector ที่ไม่หยุดอยู่แค่ระดับห้องปฏิบัติการ แต่ต้องยกระดับไปสู่ระดับการค้าและสร้างเม็ดเงินหรือประหยัดการใช้ทรัพยากรของประเทศได้

เรื่องล่าสุด