ผู้แทนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ Government Foresight Community (GFC) ครั้งที่ 11 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2567 โดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
OECD GFC ภายใต้การดำเนินงานของ Strategic Foresight Unit, Office of the Secretary-General เป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) จากหลายหน่วยงานทั่วโลก มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการคาดการณ์ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อการจัดการกับความท้าทายและความเสี่ยงในอนาคต เช่น ด้านเทคโนโลยี ภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยในการประชุมครั้งนี้ ดร.สุรชัย ได้รับเชิญให้เป็นผู้นำเสนอหลักของการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อ Overcoming Barriers: Integrating Foresight into Long-Term Strategy – Global and Regional Insights & Challenges วาระการประชุม Community exchange และ ดร.สุรชัย ได้กล่าวว่าประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของ Foresight มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 และมีภารกิจในการสร้างศักยภาพด้าน Foresight รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการประยุกต์ใช้ Foresight กับการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว
ดร.สุรชัย ได้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยและภูมิภาค APEC ในการบูรณาการเครื่องมือ Foresight เข้ากับแผนกลยุทธ์ระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย การใช้เครื่องมือวิเคราะห์เชิงชั้นสาเหตุ (Causal Layered Analysis – CLA) เพื่อสำรวจรากของปัญหา และการวางแผนฉากทัศน์แบบ Mont Fleur ในโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การใช้เครื่องมือสำรวจแบบ Delphi เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ในการดำเนินโครงการ APEC STI Strategic Foresight เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ของกลุ่มประเทศ APEC และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้ม STEEP เพื่อประเมินปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสำหรับเศรษฐกิจไฮโดรเจน ในการดำเนินโครงการ APEC Energy Transition Towards Net-Zero: Foresight Scenarios and Policy Impact ทั้งนี้ ดร.สุรชัย ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อออกแบบนโยบายและแผนที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงกลยุทธ์และนโยบายระดับชาติของกลุ่มภูมิภาค APEC อย่างมีประสิทธิภาพ