messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จับมือ 4 หน่วยงาน เดินหน้าพัฒนากำลังคน “Green Talent” ต่อยอด Net Zero Campus สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียว สู่เป้าหมาย Net Zero

กระทรวง อว. โดย สอวช. จับมือ 4 หน่วยงาน เดินหน้าพัฒนากำลังคน “Green Talent” ต่อยอด Net Zero Campus สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียว สู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่เผยแพร่ 26 ตุลาคม 2024 342 Views

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 12 (MSAT-12) ในกิจกรรม Special Session “Thailand’s Green Talent Forum” ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทักษะด้าน Green Skills ที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมสีเขียวที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ สอวช. ซึ่ง รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ MTEC และ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้เข้าร่วมในเวทีดังกล่าวด้วย

ดร.สุรชัย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและนวัตกรรมสีเขียว เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น หากมองถึงอนาคต เราไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของ Green Talent หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ และความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขาดแคลนทรัพยากร และความต้องการด้านพลังงานสะอาด ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องการทักษะและความคิดสร้างสรรค์จากบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์

“ดังนั้น การพัฒนา Green Talent จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตได้ บุคลากรเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และเกิดการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของสังคม นอกจากนี้ Green Talent ยังเป็นตัวช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รับมือกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ดังนั้น การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถในด้านนี้จึงเป็นภารกิจที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน” ดร.สุรชัย กล่าว

สำหรับบทบาทของ สอวช. นั้น ดร.สุรชัย กล่าวว่า ทาง สอวช. กำลังริเริ่มโครงการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทักษะและองค์ความรู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ที่พึงประสงค์ในบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ร่วมกับทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดทักษะดังกล่าว ภายใต้การขับเคลื่อนและต่อยอดผ่านโครงการ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ “Net Zero Campus” ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการร่วมกันของ สอวช. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1) สอวช. 2) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ 4) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)

ด้าน ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. กล่าวถึงทักษะแห่งอนาคตรองรับโลกเดือดและการดำเนินงานที่ผ่านมาของ Net Zero Campus โดยเน้นว่า Green Technology มีความสำคัญต่อการไปสู่ Green Market ซึ่งมีมูลค่าและการแข่งขันสูงทุกปี โดยคาดว่า ในปี 2050 เทรนด์มูลค่าของ Green Market จะสูงถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP โลก ดังนั้นธุรกิจแบบยั่งยืนจะเข้ามาแทนที่ธุรกิจแบบเดิม หากไม่ปรับตัวก็จะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นทั้งกฎเกณฑ์ภาครัฐ พฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงการระดมทุนในอนาคต เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะเป็นผู้สนับสนุนทุนกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของ Talent Champion ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มแรงงานทักษะสูงกับแรงงานทั่วไป ทั้งนี้พบว่า กลุ่มผู้ที่มีเงินเดือนสูงจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นการพยายามจะปิดช่องว่างตรงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิด Human Capital โดยการสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็น Talent Champion

“จากการจัดอันดับ Global Talent ประเทศไทยอยู่ในอันที่ 79 ต่ำกว่า มาเลเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ ก็อาจจะมีการย้ายฐานอุตสาหกรรมไปประเทศ ที่มีแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากตลาดงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ และมีทักษะสีเขียว เพื่อช่วยทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” ดร.ศรวณีย์ กล่าว

เรื่องล่าสุด