(27 พฤศจิกายน 2562) ที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรรมการสภานโยบายฯ ได้พิจารณาเห็นชอบหลักการและแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) เพื่อสร้างโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า มาตรการแซนด์บ็อกซ์ เป็นเรื่องที่ดีและเชื่อว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นคือการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมจะต้องเร่งเครื่องให้เร็ว กระทรวง อว. ต้องเป็นแกนหลักในการปลดล็อค เช่น การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถช่วยหลือเกษตรกรได้มาก แต่ก็ยังติดขัดข้อกฎหมายบางอย่าง ขณะที่สิงคโปร์บรรจุหลักสูตรโดรนในการเรียนการสอนแล้ว พร้อมทั้งย้ำว่า การตั้งคณะกรรมการ Sandbox เพื่อมาดูแลหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ควรตั้งคนที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริง การขับเคลื่อนจะได้เกิดขึ้นเร็วและแก้ปัญหาได้ตรงจุด
“อว. ในฐานะเป็นกระทรวงใหม่ ต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา กฎ ระเบียบบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ก็ควรจะปลดล็อคเพื่อจูงใจให้คนอื่นนำเงินมาลงทุน โดยมีมาตรการควบคุมอย่างโปรงใส แต่ไม่รัดตัวจนเกินไป เรื่องนี้ต้องหารือและถกกันอย่างหนัก ผมเองถ้าไม่ได้ทำงานในรัฐบาล ก็จะกลับไปสอนหนังสือและผมก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมได้มากกว่านี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบนิเวศ (Eco System) ที่เหมาะสม โดยแซนด์บ็อกซ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กระทรวงดำเนินการผลักดันร่วมกับการผลักดันบัญชีนวัตกรรม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และเรื่อง National Quality Infrastructure (NQI) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวข้างต้นเป็นภาพรวมการดำเนินงานของกระทรวงเพื่อไปสู่เป้าหมาย Ease of doing Innovation business
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะฝ่ายวิชาการและเลขานุการสภานโยบายว่า สอวช. ได้จัดทำหลักการการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ หรือ Innovation Sandbox เสนอที่ประชุมสภานโยบาย ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 14 ที่กำหนดให้สามารถจัดตั้งแซนด์บ็อกซ์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการยกเว้นการใช้บังคับดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ สอวช. ได้เสนอหลักการสำคัญ กระบวนการดำเนินงาน ตลอดจนแนวทางการให้สิทธิประโยชน์และการปลดล็อคกฎหมายในโครงการแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้ที่ประชุมสภานโยบายพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการและแนวทางส่งเสริมแล้ว
การดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เป็นการผสานแนวคิดระหว่างการวิจัย นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือเป็นเรื่องใหม่ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและต้องการการส่งเสริมเป็นพิเศษ แต่ยังติดอุปสรรคทางด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือไม่มีกฎหมายรองรับ การดำเนินการ Innovation Sandbox จึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมด้านใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ รวมถึงได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค แต่ต้องดำเนินการแบบมีการจำกัดขอบเขตชัดเจน
สำหรับหลักการการส่งเสริม Innovation Sandbox ที่เสนอต่อที่ประชุมสภานโยบาย ประกอบด้วย การเสนอให้สภานโยบายตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (คณะกรรมการ Sandbox) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและส่งเสริม Innovation Sandbox โดยผู้ประกอบการ/หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถทำเรื่องขอให้มีการจัดตั้ง Innovation Sandbox ผ่านการเสนอแผนการจัดตั้ง Sandbox ต่อคณะกรรมการ โดยอย่างน้อยมีรายละเอียดเรื่องเป้าหมายพิสูจน์นวัตกรรม ขอบเขตและ Feature ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระยะเวลา การวิเคราะห์ผลกระทบ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่ต้องการปลดล็อค ตลอดจนเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงปลดล็อคกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรค นอกจากนี้ ในส่วนการประเมินผลการดำเนินการ Sandbox ได้เสนอให้คณะกรรมการทำการประเมินผลการดำเนินการ Sandbox หากประสบความสำเร็จ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายผลในวงกว้าง แต่หากการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จ ให้ยุติการดำเนินงานและรายงานผลต่อสภานโยบาย
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้เสนอประเด็นสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมความเสี่ยงในการดำเนินงาน Sandbox 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. มีคณะกรรมการ Sandbox พิจารณาความปลอดภัย ความยุติธรรม จริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล 2. มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน และขยยการดำเนินงานทีละขั้นก่อนนำไปใช้ในวงกว้าง 3. จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน 4. ให้มีการประกันภัยของผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย และ 5. เมื่อมีการประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบต่อประชาชน หากสำเร็จให้มีการประกาศขยายขอบเขตการดำเนินงานในวงกว้าง แต่หากไม่สำเร็จให้ยุติโครงการและให้มีการชำระบัญชี ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายเห็นชอบในหลักการทั้งหมด และได้มอบมอบหมาย สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องและจัดตั้งคณะกรรมการ Sandbox เพื่อดำเนินการตามมาตรา 14 และเสนอสภานโยบายต่อไป