กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 (The 125th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ระหว่าง 6 – 8 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสำนักงานใหญ่ของ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 125 ( The 125th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ในวาระเรื่องแนวทางการดำเนินการและขั้นตอนต่อไปของแผนงานการปฏิรูปนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อการเปลี่ยนแปลง (OECD Agenda for Transformative Science, Technology, and Innovation Policies) ดร.สุรชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงโดยขอบคุณทีมวิจัยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Directorate for Science, Technology and Innovation (DSTI) ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีโอกาสในการนำร่องแผนงานดังกล่าวในการดำเนินโครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ OECD ระยะที่สอง (Thailand – OECD Country Programme Phase II) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
นอกจากนี้ ดร.สุรชัย ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และการดำเนินการของประเทศด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) อาทิ การจัดตั้งภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) การจัดทำร่างแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ในระยะเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573) เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและเป้าหมายในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยและระดับภูมิภาค แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ
สำหรับประเด็นเรื่องบทบาทของ Strategic Intelligence ในแผนงานและงบประมาณ (ปี ค.ศ. 2025 – 2026) ของคณะกรรมการฯ นางสาววิภาพร ได้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการคาดการณ์อนาคตซึ่งประเทศให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ซึ่งตั้งอยู่ที่ สอวช. มีภารกิจในการให้คำปรึกษาและสร้างศักยภาพด้านการคาดการณ์อนาคตทั้งแก่ภาครัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาได้บูรณาการเครื่องมือคาดการณ์อนาคต (Foresight Tools) ต่าง ๆ ในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับโครงการต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและภายใต้ APEC รวมถึงการที่ สอวช. เข้าร่วม OECD – Government Foresight Community (GFC) ถูกจัดขึ้นโดย OECD อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ดร.สุรชัย และนางสาววิภาพร ได้เข้าร่วมการประชุมย่อยอื่น ๆ อาทิ การประชุมร่วมกับทีมวิจัยฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ภายใต้ DSTI เพื่อหารือความก้าวหน้าและแผนการดำเนินโครงการย่อยการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ด้าน วทน. เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ภายใต้ Thailand – OECD Country Programme Phase II การประชุมกับทีมประเมิน (Accession Team) ในฐานะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Process) ของ OECD โดยเน้นประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ประเทศต้องดำเนินการเพื่อผ่านหลักเกณฑ์ประเมินฯ ของคณะกรรมการฯ และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการรวบรวมข้อมูลสำหรับแบบสำรวจ European Commission (EC) – OECD Science, Technology and Innovation Policy (STIP) Survey เพื่อแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass