messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุม The Collaborative RD&D Bridge-Building (CRD2B2) Workshop 2024 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะบทบาท NDE Thailand

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมการประชุม The Collaborative RD&D Bridge-Building (CRD2B2) Workshop 2024 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะบทบาท NDE Thailand

วันที่เผยแพร่ 13 พฤศจิกายน 2024 178 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุม “The Collaborative RD&D Bridge-Building (CRD2B2) Workshop 2024 in conjunction with the 19th Policy Consultation Forum of the Seoul Initiative Network on Green Growth (SINGG), 2024 Incheon International Environmental Technology Confex and GreenEnerTEC” ในฐานะบทบาทที่ สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity Thailand: NDE Thailand) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งจัดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงโซลและเมืองซองโด สาธารณรัฐเกาหลี โดยมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน และ ดร.นัทธมน สุวรรณพรหม นักพัฒนานโยบาย เป็นผู้แทน สอวช. เข้าร่วมการประชุม และมี NDE ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวน 17 ประเทศ อาทิ บราซิล บอตสวานา คาซัคสถาน เลบานอน แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย มองโกเลีย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดย UN Climate Technology Centre & Network (CTCN) เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลก ให้ผู้แทนจากหน่วย National Designated Entities (NDE) ของหลายประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Korea Institute of Energy Technology (KIER) และ Korea Institute of Industrial Technology (KITECH) ได้แลกเปลี่ยนแนวทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน โดยได้มีการนำเสนอ RD&D program ที่กำลังพัฒนาเป็นข้อเสนอกลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ภายใต้ UNFCCC และเสนอในการประชุม The 29th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ต่อไป

ดร.ศรวณีย์ ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ในฐานะตัวแทนหน่วยงาน NDE Thailand ที่มีอีกหนึ่งบทบาทเป็นหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technical Assistance, TA) ผ่านศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ซึ่ง สอวช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างระบบนวัตกรรมของประเทศในระดับนโยบาย ดังนั้นการได้รับการสนับสนุน TA มา เราจะทำงานกับเครือข่าย พัฒนาจากความต้องการทั้งบริบทปัจจุบันและอนาคต พัฒนาควบคู่กับการพัฒนาระบบนวัตกรรมและวิจัยของประเทศ อย่างการทำงานที่ผ่านมาเราได้มีโปรแกรมใหญ่ ๆ อย่างระบบนิเวศ/เมืองนวัตกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อาทิ แม่เมาะโมเดล Saraburi Sandbox เป็นต้น และโครงการ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ “Net Zero Campus” เป็นพื้นที่ดูดซับและทดสอบนวัตกรรมที่ได้มีกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อต่อยอดและยกระดับโครงการนั้นเป็นระดับชาติต่อไป ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ระหว่างการเข้าร่วมงาน สอวช. ได้จัดการประชุมทวิภาคี (bilateral meeting) กับสถาบันชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ Korea Research Institute of Chemical Technology (KRICT), Korea Institute of Energy Research (KIER) และ Low Carbon ประเทศเกาหลี โดยมีการหารือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture Utilization: CCU) และพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ต่อไป

เรื่องล่าสุด