เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ รศ.ดร.วัชรพล ชยประเสริฐ ผู้แทนผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วย นายภัทราวุธ วันเพ็ญ นายช่างเทคนิคอาวุโส กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายณรงศ์ธรรม เฉินสุจริตการกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และคณะผู้เข้าเยี่ยมชม รวมทั้งสิ้น 10 คน ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ณ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อันเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก นายสวัสดิพร ทองปาน กรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) และทีมงานกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนไทยในปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรคและความท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม การพัฒนาและยกระดับความสามารถและทักษะของกำลังคน ตลอดจนบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต และการหารือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มาตรการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ภายใต้แรงกดดันของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และสงครามการค้าการลงทุนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
ดร.ธนาคาร กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่ตลาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้งาน มีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต และโซลูชั่นใหม่ของตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างไรก็ดี การทำให้สิ่งที่พัฒนาขึ้นมา เกิดเป็นอุตสาหกรรมได้นั้น ยังต้องการสนับสนุนด้านนโยบายที่จำเป็น เช่น การส่งเสริมเพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การออกข้อกำหนดด้านคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยที่เหมาะสม การสร้างตลาด การผลิตเชิงปริมาณ การผลิตเพื่อตลาดเฉพาะทาง เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ หรือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายมิติ เช่น การสนับสนุนทางการเงินและไม่ใช่การเงิน การสนับสนุนการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้กับกำลังคนในภาคการศึกษาและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งการสนับสนุนด้านนโยบายที่จำเป็นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ในหลายกระทรวง การศึกษาดูงานครั้งนี้จึงได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเยี่ยมชมการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ ร่วมกัน ได้แก่ สอวช. และ บพข. จากกระทรวง อว. ร่วมกับ กสอ. กระทรวงอุตสาหกรรม และ สนพ. กระทรวงพลังงาน
นายสวัสดิพร กล่าวว่า บริษัทฯ มีความสนใจและเห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ สำหรับการทดลองเพื่อตอบสนองการใช้งานภายในกลุ่มบริษัทในเบื้องต้น ก่อนที่จะพิจารณาขยายผลเมื่อสภาพแวดล้อมและตลาดมีความพร้อม และได้มีการพัฒนาบุคลากร มีการสร้างและสะสมองค์ความรู้ภายในกลุ่มบริษัทและมีการทำงานพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับมหาวิทยาลัย วันนี้ ในฐานะผู้แทนของบริษัทฯ รู้สึกยินดีที่หน่วยงานภาครัฐเห็นความสำคัญของงานที่ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาและต่อยอดขึ้น และบริษัทสนใจจะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐเพิ่มเติม ปัจจุบัน บริษัทฯ ต้องการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) และทดลองเพื่อทดสอบการใช้งานจริง จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาสนับสนุนเป็นลักษณะของโครงการนำร่องที่มีขนาดที่เหมาะสม จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแก้ปัญหาคอขวดได้หลายด้านไปพร้อมๆ กัน เช่น การลดต้นทุนการผลิต การสร้างห่วงโซ่อุปทาน การควบคุมกระบวนการผลิตและคุณภาพ (QC) การพัฒนาและสนับสนุนการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัย การทำ Sandbox ทดลองเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ รวมถึงการทำให้เกิดการประกันภัยและการปล่อยสินเชื่อทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายผลให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายได้ต่อไป ในภาพใหญ่ หากประเทศต้องการสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมทางเลือกขึ้น (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้าที่มาจากประเทศจีน และจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน) ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนด้านนโยบายและมาตรการสนับสนุนทางการเงินและไม่ใช่การเงินที่จำเป็นในระยะแรกเริ่มอีกด้วย ซึ่งมาตรการสนับสนุนที่เป็นการสร้างตลาดอาจจะไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่ให้มีขนาดเพียงพอที่จะสามารถเริ่มต้นและแก้ปัญหาคอขวดได้ จึงขอเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาถึงความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศและให้โอกาสบริษัทที่เป็นของคนไทยด้วย