ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมงาน “ทิศทางวิจัย x นวัตกรรมไทย 2025” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ ห้องนภาลัย แกรนด์ บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติในงาน
การจัดงานในครั้งนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของ สกสว. ร่วมกับ สอวช. และธนาคารโลก ได้ร่วมวางเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาดัชนีระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย “Thailand SRI Index” มุ่งเน้นการบ่งชี้สถานภาพ ความก้าวหน้า และผลกระทบของระบบ ววน. ซึ่งจะช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศและเป็นเครื่องมือสื่อสารทิศทางนโยบาย ววน. ในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาคมวิจัย โดย ดร.สุรชัย ได้ร่วมเวทีเสวนา “สานพลังตอบโจทย์การกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลงทุนด้าน ววน.” ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. Ms. Melinda Good, Country Director ธนาคารโลก ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ กรรมการเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ดร.สุรชัย กล่าวถึง บทบาทการทำงานของ สอวช. ที่ผ่านมาได้มีหน้าที่ในการช่วยดูตัวชี้วัดที่สำคัญของประเทศ ตัวอย่างเช่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบให้เห็นถึงศักยภาพของไทยและเชื่อมโยงถึงแนวทางการขับเคลื่อนด้านนโยบายของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ทำงานร่วมกับ สกสว. ในการวางเป้าหมายการพัฒนาดัชนีระบบ ววน. ของประเทศไทย ซึ่ง สอวช. ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำของการทำนโยบาย มีการทำแผนและพัฒนาร่วมกับ สกสว. ดัชนีดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้เราได้รู้ถึงสุขภาพจริง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในด้าน ววน. เพื่อให้สามารถนำมาปรับแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป
ในส่วนของการต่อยอดการทำงานร่วมกับ สกสว. ธนาคารโลก ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาควิชาการ จากทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดร.สุรชัย มองว่า นอกเหนือจากดัชนีระบบ ววน. ของประเทศแล้ว จะมีข้อมูลตัวเลขที่ได้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ที่แสดงให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนของรัฐ สัดส่วนบุคลากรทางด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศ รวมถึงสัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการสำรวจในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนไทยยังมีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และภาครัฐจะมีบทบาทช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของภาคเอกชน โดย ดร.สุรชัย ได้หยิบยกหนึ่งประเด็นสำคัญที่รัฐจะต้องให้ความสนใจ คือเรื่อง Climate Technology หรือการใช้เทคโนโลยีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะครอบคลุมหลายเรื่องที่เชื่อมโยงกับนโยบายระดับโลก โดยเฉพาะนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงและจะส่งผลกระทบกับไทยด้วยเช่นกัน