อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิต PCB ของโลก ได้สร้างการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานระดับสากล
ในเดือนมิถุนายน 2567 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดโครงการ Online Job Matching เพื่อเชื่อมโยงนักศึกษาไทยกับบริษัท PCB ชั้นนำจากไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษากว่า 300 คนทั่วประเทศ โครงการนี้ไม่เพียงสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาไทย แต่ยังส่งสัญญาณความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไฮเทคในภูมิภาค
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2567 คณะผู้แทนจาก สอวช. และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางเยี่ยมชมโรงงานผลิต PCB ในไต้หวัน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยและแนวทางการพัฒนาบุคลากร โดยการเยือนครั้งนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการจัดแสดงนิทรรศการของมหาวิทยาลัยไทยในงาน TPCA Show 2024 ที่ไต้หวัน นิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการไต้หวันอย่างกว้างขวาง โดยมหาวิทยาลัยได้นำเสนอศักยภาพด้านการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรที่พร้อมตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานระดับโลก ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้แทนยังได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ TPCA เพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงที่เข้มแข็งระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต PCB แห่งภูมิภาค
เดือนพฤศจิกายน 2567 TPCA ได้จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันและตัวแทนบริษัทผู้ผลิต PCB เข้าร่วมให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรม และตำแหน่งงานที่มีความต้องการในประเทศไทย มีนักศึกษากว่า 300 คนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งนอกจากจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานในอุตสาหกรรมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพของตนเองในการร่วมงานกับบริษัท PCB ชั้นนำ
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 TPCA ร่วมกับ สอวช. และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย มีแผนจัดกิจกรรมฝึกอบรมนักศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในรูปแบบผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนปฏิบัติจริงในสถานที่ (Hybrid) โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิต PCB และได้รับการพิจารณาเข้าทำงานกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ช่วยเสริมสร้างทักษะและความมั่นใจให้นักศึกษาในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ ยังมีการพิจารณามอบโบนัสพิเศษให้แก่นักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานและปฏิบัติงานในระยะเวลา 3-6 เดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนเส้นทางอาชีพในระยะยาว
ตลอดระยะเวลาของความร่วมมือที่ผ่านมา TPCA ได้ทำงานร่วมกับ สอวช. และสถาบันการศึกษาไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับบุคลากรให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานระดับโลก ความร่วมมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิต PCB ชั้นนำของโลก พร้อมทั้งส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่มีศักยภาพอย่างยั่งยืน