(18 ธันวาคม 2567) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมงาน 9th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2024) ภายใต้ธีม “Securing a Sustainable Net Zero Future Now.” โดยได้ร่วม Panel Discussion “Green Skills for Net Zero Carbon Economy and 2030 UN SDGs: Insights from JGSEE Alumni” ในหัวข้อ “The Role of Higher Education in Advancing Carbon Neutrality and Net-Zero in Thailand” ซึ่งงานในครั้งนี้ จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ
ดร.สุรชัย กล่าวถึงโครงสร้างระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่ สอวช. มีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน อววน. ของประเทศ โดยจะมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ที่สอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (แผน ววน.) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและการดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” ที่จะถูกนำมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วย
ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์ของตลาดสีเขียว (Green Market) ที่ทำให้มีความต้องการเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) และความต้องการกำลังคนที่มีทักษะสีเขียว “Green Talent” ในตลาดเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจข้อมูลความต้องการ Green Talent ในระดับโลก ที่พบว่ายังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดแรงงานและยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมถึงแนวทางการให้สนับสนุนการให้ทุนในอนาคต
“ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ในด้านการอุดมศึกษาจึงต้องคำนึงถึงความท้าทายหลายประการที่จะมีส่วนสนับสนุนให้ไทยไปสู่เป้าหมายได้ สอวช. จึงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดกลไกและโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว เช่น แนวทางการสร้างและพัฒนากำลังคนทักษะสีเขียว (Green Talent Creation) โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) ที่ต้องการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผ่านการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลังงาน การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีอยู่ ซึ่งจะสามารถขยายผลไปสู่การสนับสนุนให้มีการเรียนการสอน การทำวิจัยและการจัดสรรทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป” ดร.สุรชัย กล่าว
ที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมหลายอย่างภายใต้โครงการนี้ อาทิ การจัดเวทีเสวนาวิชาการ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การหารือกลุ่มย่อยต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและท้องถิ่น อีกทั้งยังได้มีการจัดการประชุมสัมมนา “พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพลังของมหาวิทยาลัยกว่า 170 แห่ง ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่จะร่วมกันมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (COP29) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 สอวช. ก็ได้นำข้อมูลโครงการนี้ไปนำเสนอในเวที Side Event ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Pavilion ที่จัดแสดงภายในงาน เพื่อให้นานาชาติได้เห็นตัวอย่างการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเข้มแข็งของหน่วยงานภายในประเทศ และ สอวช. ยังได้ศึกษาในเรื่องความรู้และทักษะสีเขียว (Green Skills and Knowledge Concepts) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวตามบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศในการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวต่อไป