messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เปิดเวที UHC Learn & Share ต่อเนื่องครั้งที่ 3 ชวนภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน University Holding Company ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจประเทศ

กระทรวง อว. โดย สอวช. เปิดเวที UHC Learn & Share ต่อเนื่องครั้งที่ 3 ชวนภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน University Holding Company ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจประเทศ

วันที่เผยแพร่ 23 ธันวาคม 2024 162 Views

(20 ธันวาคม 2567) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานประชุมสัมมนา “UHC Learn & Share ครั้งที่ 3: Empowering UHC Ecosystem” ณ ห้อง Mandarin Grand Ballroom B ชั้น 1 โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ (สามย่าน) กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

นางสาวนิรดา กล่าวว่า งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดตั้ง University Holding Company (UHC) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ สอวช. ได้ผลักดันและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 เพื่อให้การจัดตั้ง UHC มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีมหาวิทยาลัยนำร่อง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ทำให้ปัจจุบันมี UHC เกิดขึ้นแล้วกว่า 11 แห่ง ทุนจดทะเบียนรวม 500 ล้านบาท และมีสตาร์ทอัพและสปินออฟที่ได้รับการลงทุนแล้วมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (IDE) ผ่านกลไก UHC และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้

“ในระยะถัดไป เรากำลังหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานของ UHC เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพและสปินออฟที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า จะต้องสร้างระบบนิเวศขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนที่จะสามารถ matching กับมหาวิทยาลัยได้ ในส่วนของต้นน้ำก็จะต้องดูว่าการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ในระยะเริ่มต้นเพียงพอหรือไม่ และอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาช่วยได้อย่างไร นอกจากนี้ จะต้องมีเมนเทอร์หรือสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันประสบการณ์ให้สตาร์ทอัพใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งคือการมีเครือข่ายในการดำเนินการ UHC ทั้งในไทยและต่างประเทศที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นางสาวนิรดา กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน UHC ได้แก่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO และ Co-Founder บริษัท ZTRUS กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ “ระบบนิเวศ UHC กับการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมของประเทศไทย” นายกิตตินันท์ พิทยปรีชากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์, TSFC Securities Plc. บรรยายในหัวข้อ “Crowdfunding สำหรับ University Holding Company” นายธนวิชญ์ ต้นกันยา ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด และนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) บรรยายในหัวข้อ “มุมมองจากสตาร์ทอัพต่อ UHC” นายพงศ์วราวุฑฒิ หมื่นยุทธิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเทคโนธานี ฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตั้ง UHC มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดตั้ง UHC มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.พณชิต ให้มุมมองว่า UHC เป็นอาวุธและเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน แต่หลักสำคัญคือวิธีการที่จะนำเอาเครื่องมือนี้ไปใช้ โดยเป้าหมายที่อยากเห็นคือการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เพื่อทำให้ประเทศเรามีรายได้มากขึ้น และสิ่งที่เราอยากจะปั้นขึ้นมาจากมหาวิทยาลัยคือ Technology Entrepreneur หรือผู้ประกอบการที่สร้างและขายเทคโนโลยี ที่ต้องอาศัยทั้งการทำงานวิจัยและการสร้างระบบนิเวศที่เข้ามาสนับสนุนให้สินค้าที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยการจะประกอบธุรกิจได้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยง ทั้งความต้องการของตลาด รวมถึงต้นทุนและกำไร ที่มหาวิทยาลัยต้องประเมินว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เครื่องมือที่มีอย่าง UHC จะช่วยในการจัดการความเสี่ยงได้อย่างไร คนที่ออกมาทำจะเป็นใคร ใครจะเป็นคนซื้อสินค้า และสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรมีคือการทำ Technology Foresight เพื่อให้เห็นภาพอนาคตและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงจะต้องดูว่าเราควรเลือกที่จะทำอะไร และไม่ทำอะไร

ด้านนายกิตตินันท์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ crowdfunding ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการระดมเงินทุนจากหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ โดยพื้นฐานของ crowdfunding จะต้องมีตัวกลางเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูมาเห็นโครงการหรือแคมเปญที่จะทำ ซึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้รู้ว่าการระดมทุนมีแนวโน้มจะสำเร็จประกอบด้วย 1. แคมเปญนั้น ๆ จะต้องได้มีการระดมทุนได้มากกว่า 30% ในสัปดาห์แรก 2. การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าเพื่อสร้างความน่าสนใจให้นักลงทุน 3. การทำวิดีโอเพื่อใช้สื่อสารถึงสินค้าให้กลุ่มเป้าหมายเห็นภาพชัดเจนขึ้น 4. การใช้ราคาพิเศษที่จะดึงดูดนักลงทุนกลุ่มแรกให้เข้ามาลงทุน 5. การสื่อสารและอัปเดตข้อมูลของแคมเปญอย่างสม่ำเสมอ และ 6. การวางแผนและการเตรียมพร้อมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดว่าจะทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

นายธนวิชญ์ กล่าวว่า ในมุมมองของสตาร์ทอัพ โลกเราปัจจุบันต้องการมากกว่าการเป็นนักวิจัย แต่อยากได้คนที่สร้างสิ่งที่มีคุณค่าและกลายเป็นนักนวัตกรที่มองภาพการทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย ซึ่งการจะทำสตาร์ทอัพได้แนวทางที่ต้องทำในช่วงตั้งต้นคือการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าผ่านการสำรวจข้อมูลจริง และค่อย ๆ เริ่มต้นปลูกเมล็ดพันธุ์ในการทำธุรกิจ ส่วนสำคัญคือมีนักลงทุนที่กล้ายอมรับความเสี่ยงและมีแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง จนเมื่อเริ่มมีคนใช้สินค้าของเราก็จะทำให้สินค้านั้นพัฒนาดีขึ้นและมีเงินไหลเข้ามามากขึ้น หัวใจหลักคือการลงทุนใส่เงินเข้าไปในธุรกิจ ถ้าเป็น UHC จะต้องมองการลงทุนในมุมผู้ประกอบการมากกว่ามุมอาจารย์มหาวิทยาลัย และต้องเห็นภาพปลายทางของการปลูกเมล็ดพันธ์หรือการสร้างธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นภาพเดียวกัน จึงจะช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตของประเทศร่วมกันต่อไปได้

นายพงศ์วราวุฑฒิ กล่าวถึงการจัดตั้ง UHC ของ มทส. ว่า เกิดจากวิสัยทัศน์ของอธิการบดีที่ต้องการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ โดยมหาวิทยาลัยไม่ได้มอง UHC เป็นแค่บริษัท แต่มองเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นตั้งแต่ก่อนการบ่มเพาะผู้ประกอบการไปจนถึงการร่วมลงทุนในธุรกิจ ซึ่ง มทส. ได้จัดตั้ง UHC ที่มีชื่อว่า บริษัท เอสยูที เอ็กซ์ จำกัด มีทุนจดทะเบียนรวม 40 ล้านบาท มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ที่มหาวิทยาลัยเริ่มมีระเบียบ มทส. ว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุน จากนั้นจึงเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง UHC และจัดตั้งได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567 โดยประเด็นความท้าทายในการจัดตั้ง UHC ที่สำคัญคือ 1. การตีความกฎหมายและกรณีศึกษาแนวทางการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ 2. จำนวน Deal Flow หรือการแลกเปลี่ยนและเจรจาการลงทุน ในกระบวนการบ่มเพาะ/เร่งสร้างผู้ประกอบการและความพร้อมในการรับเงินลงทุน และ 3. ความสามารถในการหาพันธมิตรในการร่วมลงทุน เพื่อขยายขนาดกองทุน

ดร.ยศชนัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า มหาวิทยาลัยมีระบบนิเวศการวิจัยเพื่อที่จะพัฒนางานวิจัยในมหาวิทยาลัยให้ออกไปสร้างผลกระทบต่อโลกได้จริง และมหาวิทยาลัยยังมีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะตั้ง Holding Company ที่ช่วยขับเคลื่อนต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยนโยบายในการลงทุน (investment policy) ของมหาวิทยาลัยคือการลงทุนในสตาร์ทอัพจากองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยหรือบ่มเพาะโดยมหาวิทยาลัย เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและมีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันในตลาด เทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงหรือต่อยอดกับผลงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงระดับประเทศหรือระดับสากลได้ และสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของนักลงทุน หรือ Venture Capital Trend

เรื่องล่าสุด