messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมขับเคลื่อนทิศทางงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมภาคีเครือข่าย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมขับเคลื่อนทิศทางงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมภาคีเครือข่าย

วันที่เผยแพร่ 28 ธันวาคม 2024 29 Views

(26 ธันวาคม 2567) รศ.วงกต วงศ์อภัย นักยุทธศาสตร์ระดับสูง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมการเสวนาพิเศษ : ทิศทางงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ภายใต้งานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกรอบและแผนงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ จัดโดย ศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ผลการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (THAI-GLOB) และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ ห้องประชุม กมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ตรวจสอบทางวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดำเนินรายการโดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช.

วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อทราบถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน และทราบถึงนโยบายงานวิจัย แนวทางและการมีส่วนร่วมการแสดงความเห็นต่อทิศทางวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

การประชุมและการเสวนาครั้งนี้ กล่าวถึง โครงสร้างและยุทธศาสตร์ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรายละเอียดแผนด้านระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570  รวมถึงกลไกการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษางานวิจัยด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)

รศ.วงกต ได้กล่าวถึงทิศทางงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง ภาคส่วนพลังงาน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) 3) ด้านทรัพยากร ภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Base) การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) ความรู้ของท้องถิ่น (Local knowledge)

ดร.ศรวณีย์ ได้กล่าวสรุปปิดท้ายการเสวนาว่า ทิศทางงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้ประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาระบบนวัตกรรม (National Innovation System: NIS) ร่วมด้วย เพราะในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในหลายประเด็นของการประชุม จากกลไกต่าง ๆ ที่ระดับนานาชาติกำหนดมานั้นเป็นการใช้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Science Base) ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

เรื่องล่าสุด