(7 มกราคม 2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอวช. และ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมภูมิภาคด้วยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อการขยายสู่ตลาดจีน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัดขอนแก่น โดยมี ดร. อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ผู้แทนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และกลุ่มผู้ประกอบการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และ 2 เข้าร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ นางสาวมนันยา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สอวช. และศูนย์ China Intelligence Center (CIC) โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแต่เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างกลไกที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างประเทศที่สามารถจะช่วยให้เจาะตลาดและเข้าถึง Consumer Insight ได้มากขึ้น กิจกรรมการวิจัยตลาด โดยการใช้ Digital Platform และช่องทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสในการให้กลุ่มตลาดเป้าหมายรับรู้สินค้าอีกด้วย
ปัจจุบัน หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ สอวช. ที่ได้ให้ความสำคัญคือการสร้างระบบนิเวศส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprises: IDEs) ซึ่ง IDEs เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะส่งผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ หนึ่งในประเด็นที่ สอวช. พบว่ายัง เป็นช่องว่างที่สำคัญคือการนำสินค้าออกสู่ตลาด โดยนางสาวมนันยากล่าวเสริมว่า เรามีสินค้าที่น่าสนใจหลายอย่างที่มาจากงาน การวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ของมหาวิทยาลัย จากการบ่มเพาะของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สินค้าหลายรายการยังไม่สามารถไปสู่ตลาดหรือมีขนาดตลาดที่จำกัด จึงไม่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้สูง ดังนั้น ทาง สอวช. จึงกำลังร่วมมือกับทางผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนากลไกที่เรียกว่า E-commercial and Innovation Platform (ECIP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยต่อยอดนำสินค้าที่พัฒนาจากอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือหน่วยบ่มเพาะต่าง ๆ ให้สามารถขยายสู่ตลาดได้ โดยโครงการที่ทำร่วมกับศูนย์ CIC ในวันนี้ถือเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ร่มของกลไก ECIP ซึ่งอยู่ในระยะการนำร่องเพื่อทดลองและทดสอบแนวคิด ซึ่งหากโครงการนี้ได้รับการประเมินแล้วว่าประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์และเกิดผลกระทบสูง ทาง สอวช. จะพยายามผลักดันให้เป็นกลไกสำคัญใน ECIP เพื่อให้ขยายผลเป็นระดับที่ใหญ่ขึ้น และครอบคลุมในหลายพื้นที่มากขึ้น
ต่อมา ดร. อภิรชัย ได้กล่าวยินดีต้อนรับสู่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และขอบคุณทาง สอวช. และศูนย์ CIC ที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรม และมีความพยายามที่จะนำสินค้านวัตกรรมขยายสู่ตลาดต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อุทยานวิทย์ยังคงมีจุดอ่อนทางด้านการตลาด จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือและเข้าร่วมกิจกรรมของ สอวช. และจะสามารถสร้างประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐกิจร่วมกันได้
ภายในกิจกรรม ดร.ดนัยธัญ ได้กล่าวถึงภาพรวมการจัดกิจกรรมกิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อการขยายสู่ตลาดจีน ที่จัดขึ้น โดยกิจกรรมนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจากการวิพากษ์สินค้าและถูกประเมินแล้วว่าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีน โดยกิจกรรมมีเนื้อหาทั้งในด้านของกระบวนการโลจิสติกส์ การใช้แพลตฟอร์ม Social Media ของจีนและการจับคู่ทางธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพในประเทศจีนต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการส่งออกสินค้าและการประชาสัมพันธ์สินค้าบนแพลตฟอร์ในจีนของตนเองได้