
(15 มกราคม 2568) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เข้าร่วมการประชุมเพื่อให้ข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations) ในการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 3ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 301ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

ดร.สุรชัย นำเสนอการดำเนินงานที่สำคัญของ สอวช. ตามขอบเขตตามเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) โครงการริเริ่ม 2) แผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ 3) การขับเคลื่อนผ่านอุดมศึกษาและดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

สอวช. มีเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศ เพื่อยกระดับประเทศไทยพ้นจากระดับรายได้ปานกลาง และแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ สอวช. จึงได้จัดทำข้อริเริ่มเชิงนโยบาย เพื่อนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าหนุนเป้าหมายระดับชาติ ดังนี้ 1) การเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม 2) Future Industry 3) Social Mobility 4) อววน. ช่วยหนุน Net-Zero GHG Emission 5) การเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง
ดร.สุรชัย ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ สอวช. กำลังดำเนินงานขับเคลื่อนอยู่ อาทิ การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ ‘PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City และการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง 4 หน่วยงาน สอวช. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

รศ.วงกต กล่าวถึง โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) อาทิ การปรับโครงสร้างระบบพลังงานและผลิตนวัตกรรมสีเขียว และหากมีศักยภาพนำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและชุมชนสีเขียว ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มเครือข่ายมหาวิทยาลัย เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมทุกมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของประเทศต่อไป

โดยในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มีประเด็นข้อสักถามเพิ่มเติม อาทิ การประชาสัมพันธ์ด้านบุคลากรให้สังคมโลกได้รับรู้ถึงศักยภาพของคนไทย แนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน แนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในส่วนนักวิจัย นวัตกร และสถานประกอบการ แนวทางการเขียนขอทุนการสนับสนุนเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เป็นต้น
“การตอบโจทย์ประเทศต้องมีความรวดเร็วการสื่อสารกับภาคประชาชนต้องมีความง่ายและความชัดเจน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลเช่นกัน โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในครั้งนี้กลับไปดำเนินงานต่อเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาภาครัฐให้มีความยั่งยืนต่อไป” ดร.สุรชัย กล่าวปิดท้าย

