messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมขับเคลื่อน Thai Startup Directory แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูล Startup และสถิติการระดมทุน เพื่อ Startup Ecosystem ครั้งแรกในประเทศไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมขับเคลื่อน Thai Startup Directory แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูล Startup และสถิติการระดมทุน เพื่อ Startup Ecosystem ครั้งแรกในประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 20 มกราคม 2025 35 Views

นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นวิทยากรการเสวนาหัวข้อ “ขับเคลื่อนสารานุกรมธุรกิจสตาร์ทอัพ ติดปีกสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการสารานุกรมธุรกิจสตาร์ทอัพ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโดยสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ “Thai Startup” ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการดำเนินการจัดทำ โครงการสารานุกรมธุรกิจสตาร์ทอัพ (Thai Startup Directory) โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย นายโสมทัต สังคมกำแหง ผู้อำนวยการส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และนางสาวพรพิชา เพชรแก้วกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นางสาวมนันยา ได้กล่าวถึง การใช้ประโยชน์จากข้อมูล Startup Directory สำหรับ สอวช. ว่าสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมระบนิเวศสตาร์ทอัพและโปรแกรมการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางของ Startup และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการทำนโยบายพัฒนา Tech Talent ที่จะช่วยให้ระบุความต้องการทักษะและบุคลากรที่สตาร์ทอัพต้องการเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงเป็นโอกาสดีที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง ฝั่ง Supply (มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานให้ทุน หน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ) กับฝั่ง demand (ผู้ใช้ประโยชน์นโยบายและกลไกต่าง ๆ ของภาครัฐ)  ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐยังเข้าถึงข้อมูลจากฝั่ง demand ได้ไม่มาก ซึ่งถ้ามีข้อมูลจากทั้ง  2 ฝั่งก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงความร่วมมือกัน และผลักดันงานวิจัยและทรัพยากรต่าง ๆ ไปส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ทอัพได้มากขึ้น

นอกจากนี้ได้กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการขับเคลื่อน Thai Startup Ecosystem เนื่องจาก Startup เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สอวช. จึงให้ความสำคัญต่อการจัดทำนโยบายและมาตรการส่งเสริม Startup 1. การพัฒนากำลังคน ได้มีการออกแพคเกจ สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการจ้างงานบุคลากรทักษะสูง และการส่งบุคลากรไปอบรมด้าน STEM ซึ่งบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยกเว้นภาษีได้ 2. การออกแบบกลไกสนับสนุนทางการเงิน เช่น Innovation One ซึ่ง สอวช. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม ในการพัฒนาไกนี้ขึ้นโดยเป็นการลงขันร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนทุนให้ Startup ซึ่งปัจจุบันดูแลโดย สกสว. และสภาอุตสาหกรรมฯ และ University Holding Company สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้ง Holding เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในการร่วมลงทุน และใช้ทรัพยากรต่างๆในการสนับสนุน Startup 3. กฎหมาย เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ปลดล็อกเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย และ4. การออกแบบกลไก Mentoring และมีการรวบรวม pool ของ Mentor ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา Startup  จัดทำเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ และได้ถือโอกาสส่งมอบฐานข้อมูลนี้ต่อให้กับสมาคมได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ขอบคุณภาพจาก สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย

เรื่องล่าสุด