messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของไทย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของไทย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรไทย

วันที่เผยแพร่ 23 มกราคม 2025 28 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Preparation Workshop for the Technical and Economic Feasibility of Blockchain-based Parametric Insurance in Thailand” เตรียมความพร้อมในการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันพืชผลในภาคเกษตรของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2568 โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) และทีมวิจัยจากสถาบัน The Blockchain & Climate Institute (BCI) สหราชอาณาจักร รวมถึงทีมวิจัยจากหน่วยงานประเทศไทย ได้แก่ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.สุรชัย ผสอวช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์และที่มาของโครงการว่า สอวช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ “Blockchain Technology for a Real Time Climate Risk Insurance System in Thailand’s Agricultural Sector” ภายใต้โปรแกรม Adaptation Fund Climate Innovation Accelerator (AFCIA I) เฟสแรก โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก CTCN ซึ่งดำเนินงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และกองทุนการปรับตัว (Adaptation Fund) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับระบบประกันภัยพืชผลในประเทศไทย โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้นั้น มีความหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาและลดขั้นตอนในกระบวนการพิสูจน์ภัยพิบัติและการเรียกร้องค่าสินไหม เพิ่มความโปร่งใส และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรเข้าถึงระบบการประกันภัยพืชผลได้ง่ายขึ้นในรูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile Application) ที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นระบบแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Data Structure) ที่สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และภาคธุรกิจประกันภัย ที่ใช้เครือข่ายบล็อกเชนร่วมกัน

ทั้งนี้ ฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. ได้ร่วมจัดการประชุมฯ อย่างเข้มข้นทั้งสองวันร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในระบบประกันภัยพืชผล (Key Stakeholder) ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความรู้ ข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการเตรียมความพร้อมในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการประกันภัยพืชผลในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในโครงการนี้ยังช่วยให้เกิดร่างแผนที่นำทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติในการพัฒนา ทดสอบ และนำระบบไปใช้ โดยเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรไทยที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในการทำการเกษตร

เรื่องล่าสุด