messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เผยแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินงานร่วมกันทั้งไทยและนานาชาติ สนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กระทรวง อว. โดย สอวช. เผยแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินงานร่วมกันทั้งไทยและนานาชาติ สนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วันที่เผยแพร่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 68 Views

รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “National Policy” นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Movement on Green Technology & Innovation) ในการฝึกอบรมหลักสูตรการวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Mitigation and Planning (CCMP) ภายใต้โครงการ Empowering Thailand’s Department of Climate Change and Environment (EMPOWER) จัดโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ณ โรงแรมอีสทิน แกรนด์พญาไท โดยการอบรมนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมจาก สส. จำนวน 100 คน

รศ.วงกต เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ที่อยู่ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงต้องมีการดูเรื่องนโยบายทั้งในฝั่ง อ. คือการอุดมศึกษา และฝั่ง ว. คือวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงในด้านสังคมศาสตร์ด้วย ในเชิงโครงสร้าง สอวช. ทำงานภายใต้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และส่งต่อนโยบายออกมาเป็นแผน โดยในฝั่ง ว. จะมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้ดูแลเรื่องแผนและการจัดสรรงบประมาณหรือเงินทุน จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุน ซึ่งหน่วยที่มีความเกี่ยวข้องกับการให้ทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ในส่วนของการดำเนินงานที่เกี่ยวกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกกระทรวงเห็นตรงกันในการร่วมกันขับเคลื่อน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีผู้แทนจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เข้ามาช่วย สอวช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ที่ในปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนงเพื่อสมัครเป็นประเทศสมาชิกของ OECD ซึ่ง OECD ได้รับแผนแม่บท (master plan) ของไทยแล้ว โดยจะมีตัวชี้วัดของประเทศอยู่กว่า 20 ตัวชี้วัด ที่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมอยู่ด้วย หากประเทศไทยต้องการเข้าร่วม OECD จึงต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

รศ.วงกต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นงานที่ท้าทาย สอวช. เองก็ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) ให้มีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 50 แห่งมาร่วมประกาศเจตนารมณ์ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีแนวทางช่วยสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการเป็นผู้ตรวจประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product: CFP) หรือผู้ตรวจประเมินปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร ( Carbon Footprint for Organization: CFO) นอกจากนี้ ยังร่วมสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการขับเคลื่อนระดับพื้นที่อย่าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เพื่อนำร่องการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอีกด้วย

สอวช. ยังทำงานคู่กับ สส. ในแง่ของการเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE Thailand) โดยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ในฐานะนักเจรจาในประเด็นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ สอวช. จะเริ่มทำเอกสารชุดที่ 2 ของการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) เพื่อประเมินว่าไทยต้องการเทคโนโลยีอะไรในการลดก๊าซเรือนกระจก จัดทำเป็นรายงานส่งไปที่องค์การสหประชาชาติ (UN)

ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะมีศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ที่ สอวช. ได้รับโครงการมาศึกษาและขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี ทั้งในมุมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) สอวช. ได้พัฒนานโยบายเรื่องไฮโดรเจน การศึกษาเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนในการประเมินความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) เพื่อช่วยเกษตรกรในการปลูกข้าว รวมถึงทำเรื่องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้วย (Research Utilization)

รศ.วงกต ยังได้กล่าวถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีสีเขียว ประกอบด้วย 1.รัฐบาล 2.ผู้นำ/ผู้บุกเบิก 3.นักวิทยาศาสตร์/นักวิจัย 4.ผู้ประกอบการ 5.นักลงทุน 6.บริษัทที่เกี่ยวข้อง 7.โครงการบ่มเพาะและส่งเสริมสตาร์ทอัพ และ 8.แรงงาน โดยในส่วนของ สอวช. ได้สนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company ให้สามารถนำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง และทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ผ่านการบ่มเพาะพัฒนาทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ โดยในการบ่มเพาะผู้ประกอบการและการทำเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech มีหลักคิดสำคัญคือ 1.ทำให้ทุกอย่างเป็นไฟฟ้า และไปบริหารจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โรงไฟฟ้าที่เดียว 2.จัดการไฟฟ้าในการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกให้เป็นของเหลว (liquid) หรือของแข็ง (solid) เพราะจะมีความเป็นถาวร และ 3.ต้องมีกระบวนการของการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ (carbon capture)

ในช่วงท้าย รศ.วงกต ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้าน วทน. จากการทำงานร่วมกับ OECD ว่ามีองค์ประกอบของความสำเร็จ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. STI public and private finance ต้องมีการสนับสนุนด้านการเงิน โดยต้องทำให้ธนาคารหรือแหล่งเงินเห็นความสำคัญกับประเด็นนี้ 2. International STI co-ordination มีความร่วมมือในการทำงานจากหลายหน่วยงานร่วมกัน 3. International STI co-ordination การประสานงานและสร้างความร่วมมือกับต่างชาติ ดูว่าประเทศอื่นทำอะไร และประเทศไทยควรทำอะไร และ 4. Cross-government coherence การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล

ขอบคุณภาพจาก CBiS

เรื่องล่าสุด